ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลทหารเมียนมา ห้ามนำเข้าสบู่ ยาสีฟัน และผงซักฟอก บังคับประชาชนผูกขาดใช้สินค้าที่ผลิตในเครือข่ายธุรกิจกองทัพ ภาคธุรกิจหวั่นกระทบส่งออก

สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมา รายงานว่า กรณีที่คณะรัฐประหาร แบนการนำเข้าสบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการพยายามส่งเสริมให้ประชาชนสนับสนุนสินค้าจากกิจการที่กองทัพเป็นเจ้าของ ซึ่งกิจการเหล่านี้ถูกบอยคอตมานับตั้งแต่ก่อรัฐประหาร

กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมาได้ออกคำสั่งแบนการนำเข้าสินค้าในเขตชายแดนตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นการปกป้องกิจการภายในประเทศ รวมถึงลดการใช้สกุลเงินต่างประเทศ 

อย่างไรก็ดี สินค้านำเข้าอย่างเจลอาบน้ำ ผงซักฟอก ยาสีฟัน และแปรงสีฟัน สามารถครองตลาดเมียนมาได้เนื่องจากมีคุณภาพที่สูงกว่า และเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ นอกจากนั้น คณะรัฐประหารเมียนมายังแบนการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป โซดา และนมข้นหวานจากประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารและประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พยายามที่จะส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศตั้งแต่ก่อรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ภายใต้ความพยายามที่จะลดการใช้สกุลเงินต่างประเทศจากการนำเข้าสินค้า

มาตรการแบนดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางเยือนโรงงานผลิตสบู่ Padonmar Soap ในรัฐมอญ ซึ่งเป็นโรงงานของกองทัพ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมมีคำสั่งให้โรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้สบู่ภายในเมียนมา และทดแทนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้ได้ อย่างไรก็ดี แม้สื่อของรัฐบาลกองทัพจะอ้างว่า โรงงานดังกล่าวได้ทำการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากตั้งแต่ปี 2002 แต่ก็ไม่เป็นที่ปรากฏว่ามีสินค้ายี่ห้อนี้ขายอยู่ในท้องตลาดมาก่อน

หลายฝ่ายมองว่ามาตรการแบนดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนสินค้าของกองทัพผ่านการ “ปล้นจากสินค้ายี่ห้ออื่นที่สามารถครองตลาดได้ แทนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง” ในขณะที่กลุ่มคนมีเส้นสายได้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ประชาชนจะได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน เพราะกลไกราคาก็จะถูกควบคุมโดยกองทัพ ผู้อุปโภคบริโภคที่เคยใช้จ่ายในราคาเท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม อาจได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพลดต่ำลงกว่าเดิม 

ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหว Justice for Myanmar (JFM) ระบุว่า กองทัพพยายามเข้าควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ประหนึ่งว่าเป็นขบวนการอาชญากร ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขและถอดรื้อ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจแต่อย่างใด กองทัพพยายามอย่างมากในการสร้างข้อจำกัดทางด้านการค้าต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์จากช่วงรัฐประหารที่ตนได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไป