ไม่พบผลการค้นหา
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2022 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 พ.ย. และจะยิงยาวไปถึงวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ประเทศไทยยังคงไม่มีเอกชนรายใดประกาศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันเข้ามาฉายแต่อย่างใด ท่ามกลางความวุ่นวายและความลุ้นของแฟนฟุตบอลที่ยังคงไม่แน่ใจว่าจะได้ชมฟุตบอลโลกในปีนี้หรือไม่ และยิ่งมีประเด็นใหม่ที่น่ากังวลเกิดขึ้น เมื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงว่า รัฐบาลจะให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการนำงบประมาณมาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

‘วอยซ์’ ชวนจับตาดูความคืบหน้ากรณีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมกลับย้อนมาดูสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งยังคงมีความไม่ชัดเจน ในขณะที่นัดแรกของฟุตบอลโลกกำลังจะเริ่มเตะในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ฟุตบอลโลก ไทย ลิขสิทธิ์
ประเทศอื่นจ่ายแพงแค่ไหนเพื่อดูฟุตบอลโลก?

ปัจจุบันนี้ 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยกเว้นประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย 2 ประเทศล่าสุดที่ฟีฟ่าประกาศชื่อผู้ถือลิขสิทธิ์ ได้แก่ ลาว และเมียนมา โดยสำหรับประเทศลาวบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์คือ Satellite Co., Ltd-Laos ซึ่งได้ออกมาเปิดเผยว่าจะทำการถ่ายทอดสดในทุกช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และบริการสตรีมมิ่งบนอินเทอร์เน็ต ในขณะที่บริษัท SKY NET เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในเมียนมา และจะมีการถ่ายทอดสดให้ชมครบทั้ง 64 คู่

ส่วนในประเทศมาเลเซีย ผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดมาด้วยราคา 948 ล้านบาท โดยชาวมาเลเซียสามารถรับชม 41 นัด จากทั้งหมด 64 นัดได้ฟรีผ่านช่อง RTM ซึ่งเป็นช่องบริการสาธารณะประจำชาติมาเลเซีย ในขณะที่ชาวเวียดนามสามารถรับชมการแข่งขันทั้ง 64 นัดได้ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์มาในราคา 532 ล้านบาท

ในมาเลเซียและเวียดนามมีผู้ถือลิขสิทธิ์ฉายบอลโลกเป็นช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล ในส่วนกรณีของสิงคโปร์นั้น มีการซื้อลิขสิทธิ์ผ่านการลงทุนของกลุ่ม StarHub, Singtel และ Mediacorp ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน โดยมีเพียง Mediacorp ที่มีบริษัทเทมาเส็ก ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าของ โดยทั้ง 3 บริษัทได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาในราคา 984 ล้านบาท ซึ่งจะทำการถ่ายทอดผ่านบริการสตรีมมิ่งที่คิดค่าบริการ 2,636 บาท สำหรับการรับชมการแข่งขันครบทั้ง 64 นัด นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟรีได้ใน 9 นัดสำคัญผ่านทางช่องของ Mediacorp อีกด้วย

กฎ Must Have และ Must Carry คืออะไร?

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ทางฟีฟ่าคิดกับประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากยิ่งกว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างอินโดนีเซียเสียอีก เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องรู้จักกับกฎเกณฑ์ของกสทช. ที่เป็นงูรัดคออย่างกฎ Must Have และ Must Carry ก่อน

กฎ Must Have หมายถึง ข้อกำหนดของกสทช. ที่ระบุให้รายการกีฬาทั้งหมด 7 รายการ เช่น โอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ และรวมถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จำเป็นต้องฉายทางช่องฟรีทีวีเท่านั้น ห้ามฉายผ่านบริการบอกรับสมาชิกอย่างช่องดาวเทียมหรือเคเบิลต่างๆ ที่จำเป็นต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมเพื่อเข้าชม ในขณะที่กฎ Must Carry ระบุให้ผู้ประกอบการกิจการแบบบอกรับสมาชิก จำเป็นต้องนำช่องทีวีไปฉายในบริการของตนด้วย

ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎดังกล่าวใรประการแรก คือ มันทำให้กลุ่มทุนที่ประกอบการด้านสื่อโทรทัศน์จะขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไปฉาย แต่อีกผลกระทบหนึ่งที่สำคัญ คือ ทำให้ฟีฟ่าเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการฉายฟุตบอลโลกในราคาที่สูง เนื่องจากถือว่าหากนำมาฉายในไทยแล้ว การแข่งขันจะถูกถ่ายทอดพร้อมกันในหลายช่องทาง ทั้งทางฟรีทีวีที่มีหลายช่อง และทางช่องของบริการตอบรับสมาชิกต่างๆ อีก

กฎ Must Have และ Must Carry บังคับใช้ในปี 2556 ซึ่งในขณะนั้นบริษัทอาร์เอสได้ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อฉายฟุตบอลโลก 2014 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กสทช. ในขณะนั้นบังคับให้อาร์เอสต้องฉายฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวีด้วย จึงทำให้อาร์เอสฟ้องร้องกสทช. ต่อศาลปกครอง ซึ่งจบลงที่การที่ศาลพิพากษาให้อาร์เอสไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบทุกนัด เนื่องจากถือว่าอาร์เอสได้ทำสัญญากับฟีฟ่าก่อนที่จะมีการออกกฎดังกล่าวขึ้น จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ ในขณะที่ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนโดยบริษัทเอกชน 9 บริษัทและรัฐบาล โดยมีบริษัททรูเป็นตัวแทนเจรจา

ทำไมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้จึงมีปัญหา?

ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่กำลังจะมีขึ้นในอีก 5 วันข้างหน้า ยังไม่มีเอกชนรายใดที่เสนอตัวว่าจะซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันเข้ามาฉาย ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะให้ กสทช. เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเข้ามาฉายเอง ทั้งนี้ ค่าลิขสิทธิ์การฉายฟุตบอลโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก แต่เหตุผลของฟีฟ่าวางอยู่บนฐานที่ว่าประเทศไทยมีช่องทางในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎ Must Have และ Must Carry นั่นเอง

เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว กสทช. มีมติในวันที่ 9 พ.ย. จะนำเอางบประมาณที่อยู่ใน “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” (กทปส.) มาจ่าย ประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าว คือ การพัฒนาสื่อมวลชนของประเทศ การพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงสื่อ และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดฟุตบอลโลกแต่อย่างใด  

กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร?

ในวันที่ 9 พ.ย. ก่อนการลงมติขอ งกสทช. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนกฎหมายอย่างชัดเจน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนตามกฎหมายนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาฉายแต่อย่างใด ศิริกัญญายังกล่าวอีกว่า กสทช. จำเป็นต้องซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวเพียงเพราะ “ใบสั่งของใครบางคน”

ศิริกัญญายังกล่าวถึงกรณีที่ในอดีตที่ผ่านมา คณะ คสช. เคยใช้อำนาจในมาตรา 44 ในการแก้กฎหมายให้กระทรวงการคลังสามารถกู้ยืมเงินจาก กทปส. ได้โดยไม่ต้องจ่ายคืน ว่าถือเป็นการ “ล้วงเอาเงินที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจที่จะใช้” จนกระทั่ง “ติดนิสัย” ของรัฐบาล ทั้งนี้ ทางออกของศิริกัญญา คือ การให้ กสทช. ทำการแก้ไขกฎ Must Have และ Must Carry ซึ่งจะทำให้สามารถต่อรองราคาค่าลิขสิทธิ์กับฟีฟ่าได้ในราคาที่ถูกลง และทำให้เอกชนมีแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเข้ามาฉายได้ทันการแข่งขันในรอบลึกและรอบชิงชนะเลิศ

ความเห็นของศิริกัญญาตรงกันกับความเห็นของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งในกรรมการ กสทช. ที่ชี้ว่า กฎ Must Have ไม่ได้ระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของ กสทช. ที่จะต้องจัดหารายการตาม 7 ประเภทกีฬาสำคัญมาฉายแต่อย่างใด กฎดังกล่าวระบุเพียงแค่ว่า หากมีกรณีที่เอกชนรายใดนำการแข่งขันฟุตบอลโลกเข้ามาฉาย กสทช.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เอกชนจำเป็นจะต้องฉายรายการดังกล่าวบนช่องฟรีทีวีควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ศ.ดร.พิรงรองมีความเห็นว่า หากจะต้องมีหน่วยงานรัฐใดที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกจริงๆ หน่วยงานนั้นควรเป็นกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายในการส่งเสริมกิจกรรมการกีฬาให้แก่ประชาชน

ในขณะที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อหลายคนได้มีการแถลงการณ์ร่วมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกสทช. ในกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวว่าฟุตบอลโลกเป็น “ประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย” ซึ่งไม่ได้เข้าข่ายกรณีที่จะใช้เงินจากกองทุน กทปส. ได้ อีกทั้งในขณะนี้ เงินในกองทุนกทปส. คงเหลือเพียง 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้องนำไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก อาจเหลือไม่พอใช้ปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างการเพิ่มระดับการเข้าถึงสื่อมวลชนของผู้ด้อยโอกาส

ในขณะที่ กสทช.ยังคงมีปัญหาคาราคาซังในกรณีควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ประชาชนตั้งคำถามและติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ องค์กรเจ้าปัญหาก็ได้ก่อเรื่องใหม่อีกครั้งในกรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก โดยการวางแผนบิดเบือนกฎหมายเพื่อกู้เงินจากกองทุน กทปส. โดยมิชอบ เพียงเพราะใบสั่งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างไม่ตรงจุดนี้ก็มีที่มาเพียงเพราะคำพูดของผู้มีอำนาจคนนั้นที่ไม่ต้องการรบกวนเงินทุนจากเอกชนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก

ท้ายที่สุด อาจต้องมีการตั้งคำถามว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในความวุ่นวายดังกล่าว หาก พล อ. ประวิตร  “ไม่อยากรบกวนเอกชน” ในการลงทุนจริง แล้วการนำเงินจากกองทุนที่สามารถนำไปใช้พัฒนาสื่อมวลชนในประเทศซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีนั้น ไม่ยิ่งเป็นการ “รบกวนประชาชน” ผู้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในความขัดแย้งดังกล่าวแทนหรือ?


เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ