ไม่พบผลการค้นหา
นายแบงก์ใหญ่คาดหนี้เสียพุ่งนานกว่า 2 ปี ธนาคารกรุงเทพแจงออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิรองรับสถานการณ์ไม่แน่นอนระยะข้างหน้า ฟากศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ปี 2564 ยอดขายธุรกิจไทยต่ำกว่าปกติ สะเทือนความสามารถชำระหนี้ จับตาธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อสังหาฯ จ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว

เดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและหนี้เสีย (NPLs) ในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีจึงจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19 เพราะเวลานี้ธุรกิจส่งออกก็ไม่ดี ท่องเที่ยวโรงแรมก็ไม่ดี อีกทั้งประเทศไทยมีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30-40% และเจ้าของกิจการเกษตรก็คือกลุ่มส่งออก ข้าวไทยก็ราคาแพงขายแข่งกับใครก็ลำบาก ยางพาราก็ไม่ดี อ้อยก็มีสต็อกจำนวนมาก เรียกว่า ลำบากกันหมด

ดังนั้น ธนาคารจึงต้องมีเงินกองทุนให้เพียงพอรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพจึงได้ออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ในรูปแบบหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% แต่ธนาคารไม่มีสิทธิไถ่ถอนจนกว่าจะผ่านไป 5 ปี ซึ่งเป็นการออกภายใต้โครงการ global medium term note program วงเงินรวมทั้งสิ้น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะออกมาเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต โดยใช้ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกงเป็นผู้ออกและเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา 

"โดยส่วนตัวมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและเอ็นพีแอลต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะกลับเข้าไปสู่สถานการณ์ก่อนมีโควิด และที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเล็กๆ ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นไม่กระทบกับแบงก์ แต่ต้องเตรียมทุนไว้ เพราะเวลานี้ส่งออกก็ไม่ได้ ท่องเที่ยวก็ไม่ดี เราจึงต้องการรักษาทุนสำรองของเราให้มากพอ เพื่อจะบริหารจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเวลานี้เราอาจมองไม่เห็น แต่ก็คิดว่าจะไม่มีอะไรมากมายนัก" เดชา กล่าว

เดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ
  • เดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวของธนาคาร จะทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนในสิ้นปี 2563 อยู่ในระดับสูง 18% จากปัจจุบันอยู่ที่ 17.5% ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีเงินทุนเพียงพอรองรับหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงสามารถรองรับธุรกิจของธนาคารในระยะยาวได้ถึงปี 2565-2566

กรุงไทยชี้อีก 2 ปีมีธุรกิจกำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 30%

พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทาย แม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่จะหดตัวมากถึง 9% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง 

อีกทั้งจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ที่สะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน พบว่าในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือ มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

"สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการซมไข้ยาวนาน หรือ กิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมดในปี 2562 เพิ่มมาเป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”

จับตาโรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ 'ซมไข้ยาว' เพิ่มมากขึ้นในปี 2565

ณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ธนาคารกรุงไทย กล่าวด้วยว่า ต้องจับตามองธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีกิจการซมไข้ยาวนานในปี 2563 มีมากถึง 29% และ 26% ของกิจการทั้งหมด ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ 

ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะจะกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการซมไข้ยาวนานสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น

ธนาคารกรุงไทย พชรพจน์
  • ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์-พชรพจน์ นันทรามาศ-ณัฐพร ศรีทอง

ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อีกรายจากธนาคารกรุงไทย ชี้ว่าการจัดการกับกิจการซมไข้ยาวนานที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ 

อีกทั้ง ควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน

ข่่่าวที่เกี่ยวข้อง: