มีการคาดการณ์ว่า ราชปักษาจะเดินทางมาถึงสนามบินชางงีของสิงคโปร์ในช่วงคืนนี้ หลังจากที่ราชปักษารอ "เครื่องบินส่วนตัว" ที่นำพาสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัว เดินทางออกนอกกรุงโคลัมโบของศรีลังกามาพบตน อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระบุกับทาง CNN ว่า เรื่องดังกล่าว “ไม่ได้เกิดขึ้นจริง” ทั้งนี้ มีภรรยาและองครักษ์ของราชปักษาอีก 2 คนเท่านั้น ที่เดินทางทางออกนอกศรีลังกามาพร้อมกันด้วยเครื่องบินของกองทัพ
แหล่งข่าวยังได้รายงานอีกว่า ราชปักษาเดินทางออกจากกรุงมาเลของมัลดีฟส์ด้วย “เครื่องบินของซาอุดีฯ” โดย CNN ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวว่า ราชปักษาจะเดินทางด้วยสายการบินซาอุเดีย เที่ยวบินที่ 788 ซึ่งออกเดินทางจากมัลดีฟส์เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น อย่างไรก็ดี CNN พยายามติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียและสิงคโปร์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด
ราชปักษาอาศัยอยู่ในมัลดีฟส์เป็นเวลา 1 วัน หลังจากตนลี้ภัยทางการเมือง โดยอ้างเรื่องเหตุผลของความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี และเดินหน้าการประท้วงขับไล่ให้ราชปักษาลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ราชปักษาสัญญาว่าตนจะลาออกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ราชปักษายังคงไม่ได้ส่งหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการมาให้แก่รัฐสภาศรีลังกา มิหนำซ้ำยังแต่งตั้งให้ รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี ขึ้นรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีแทนตนขณะการลี้ภัย
มีการคาดการณ์ว่า ราชปักษาทำการลี้ภัยทางการเมืองในครั้งนี้ เนื่องจากตนหวั่นเกรงว่ารัฐบาลชุดใหม่ ที่จะขึ้นมาครองอำนาจศรีลังกาแทนตน จะสั่งจับกุมตนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากที่ตระกูลราชปักษาลอยนวลพ้นผิดจากคดีต่างๆ มากมาย
หลังจากการลี้ภัยของราชปักษา และยังคงไม่มีการส่งหนังสือลาออกมายังรัฐสภา ประชาชนที่โกรธแค้นเดินหน้าต่อไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้ายึดสถานที่ดังกล่าว เพื่อเรียกร้องให้วิกรมสิงเหลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ วิกรมสิงเหตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวทั่วทั้งประเทศตลอดทั้งคืนนี้ โดยวิกรมสิงเหขอร้องให้กองทัพทำ “ทำทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย” ของศรีลังกา
ผู้ประท้วงยืนยันว่า พวกตนจะยังคงทำการปักหลักประท้วงและยึดทำเนียบประธานาธิบดี และทำเนียบนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าราชปักษาและวิกรมสิงเหจะลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่ ทั้งนี้ ประชาชนชาวศรีลังกาเดินหน้าการประท้วงมาหลายเดือนแล้ว หลังจากประเทศประสบกับภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ จากการบริหารแผ่นดินที่ผิดพลาดของตระกูลราชปักษากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาในครั้งนี้ เป็นวิกฤตของประเทศที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 70 ปีก่อน
ที่มา: