ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนถึงวันคริสต์มาส เด็กหญิงชาวอังกฤษซื้อการ์ดอวยพรจากห้างเทสโก แต่พบข้อความภาษาอังกฤษที่ระบุว่า คนทำการ์ดใบนี้เป็นนักโทษชาวต่างชาติในคุกจีนที่ถูกบังคับใช้แรงงาน ทำให้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศ

​เกิงฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงปฏิเสธข่าวการใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำจีนทันทีที่ทราบข่าว โดยเขาระบุว่า เรื่องนี้เป็นความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของจีน และยืนยันว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานนักโทษ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวนี้ขึ้นมา เป็นเพราะว่าหนังสือพิมพ์ 'ซันเดย์ไทม์ส' สื่อของอังกฤษ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเด็กหญิงฟลอเรนซ์ วิดดิโคมบ์ วัย 6 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน และครอบครัวของเธอ ซึ่งระบุว่า พวกเขาได้ซื้อการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสจากห้างเทสโกมาจำนวนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อประดับต้นคริสต์มาสและเตรียมฉลองในช่วงเทศกาล แต่ฟลอเรนซ์กลับพบว่าการ์ดใบหนึ่งที่เธอเพิ่งแกะออกมา มีข้อความที่เขียนด้วยลายมือของคนอื่นอยู่แล้ว

ข้อความนั้นถูกเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และมีใจความว่า "พวกเราเป็นนักโทษชาวต่างชาติที่ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจอยู่ในเรือนจำเซี่ยงไฮ้-ชิงผูของจีน ได้โปรดช่วยพวกเรา และบอกเรื่องนี้ให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทราบ" ทั้งยังมีข้อความที่ระบุว่า 'ปีเตอร์ ฮัมฟรีย์' รู้ข้อมูลเรื่องนี้ และสื่ออังกฤษก็รายงานต่อไปว่า ปีเตอร์ ฮัมฟรีย์ คือ อดีตผู้สื่อข่าวของอังกฤษที่เคยต้องโทษในเรือนจำที่จีนอยู่นาน 23 เดือน

เรื่องดังกล่าวทำให้เทสโกในอังกฤษประกาศว่าได้สั่งระงับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตการ์ดคริสต์มาสในประเทศจีนชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการใช้แรงงานนักโทษจริงหรือไม่ พร้อมย้ำว่า ถ้ามีการบังคับใช้แรงงานนักโทษจริง จะยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้ผลิตรายย่อยในจีนแห่งนี้ทันที เพราะเทสโกต่อต้านการใช้แรงงานลักษณะนี้ 

ส่วนบริษัทในจีนก็ออกมาปฏิเสธอีกเสียงหนึ่งว่า ข่าวที่สื่ออังกฤษนำเสนอไม่เป็นความจริง และบริษัทของเขาไม่ได้บังคับใช้แรงงานนักโทษชาวต่างชาติ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องพาดพิงถึงบริษัทของเขาด้วย

Reuters-ข้อความในการ์ดคริสต์มาสที่ระบุว่าเขียนโดยนักโทษชาวต่างชาตในจีนซึ่งถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ ฮัมฟรีย์ ผู้ที่ถูกกล่าวถึงในการ์ดคริสต์มาสปริศนา ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนัก โดยยืนยันว่า ช่วงที่เขาถูกขังในเรือนจำชิงผู ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนช่วงปี 2014-2016 เขาถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจจริงๆ ทั้งยังระบุด้วยว่า เขาต้องผลิตสินค้าซึ่งประทับตราแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น H&M และ C&A โดยข้อหาที่ทำให้เขาถูกจับกุมและลงโทษนั้น เกี่ยวพันกับการที่เขาเข้าไปสอบสวนคดีทุจริตของผู้บริหารชาวจีนที่ทำงานร่วมบริษัทยาต่างชาติ แต่เขาและภรรยาเชื้อสายจีนของเขา กลับถูกเจ้าหน้าที่จีนจับกุมในข้อหา 'ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล'

ฮัมฟรีย์ เปิดเผยว่า เขาถูกบังคับให้รับสารภาพผ่านสื่อจีนว่า "เสียใจที่ละเมิดกฎหมายจีน" ก่อนจะถูกศาลตัดสินความผิดและส่งตัวไปเรือนจำชิงผู แต่เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 7 เดือน ก่อนจะกลายเป็นข่าวอีกครั้งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีนี้

จากข้อความในการ์ดปริศนา เกี่ยวโยงกับคดีระหว่างประเทศ ทำให้คดีเก่ากลายเป็นจุดสนใจในระดับโลกอีกครั้ง แต่จีนก็ยืนยันว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานนักโทษ ซึ่งกรณีนี้สื่ออังกฤษรายงานว่า เป็นเพราะกฎหมายจีนระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก และมีศักยภาพพอที่จะทำงานได้ จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้คุมเรือนจำ และการกำหนดให้การทำงานหรือใช้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับโทษทัณฑ์ ทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมายจีน

นอกจากนี้ การใช้แรงงานนักโทษก็ไม่ได้มีแต่ในประเทศจีนเท่านั้น เพราะหลายประเทศกำหนดให้นักโทษทำงานในระหว่างที่ถูกคุมขังเช่นกัน แต่การบังคับใช้แรงงานให้ทำงานต่อเนื่องและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการกดค่าแรงให้ต่ำกว่าค่าจ้างทั่วไป เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน เพราะเข้าข่ายการเอารัดเอาเปรียบนักโทษที่ต้องใช้แรงงาน

ที่มา: The Guardian/ Reuters/ SCMP