ไม่พบผลการค้นหา
สสส.ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” หนุนชุมชน-ท้องถิ่น พัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะอย่างยั่งยืน

“มานิ” เป็นชื่อเรียกตัวเองของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดของภาคใต้มานานหลายร้อยปี ที่บางครั้งในส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำว่า “เงาะป่า” หรือ “ซาไก”

ซึ่งคำว่า “มานิ” นั้นแปลว่า “คน” ซึ่งแสดงถึงการมีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิตเฉกเช่นคนปกติทั่วไป ดังนั้นแม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในป่า ใช้ชีวิตด้วยการใช้ลูกดอกล่าสัตว์ แต่ในฐานของความเป็นพลเมืองไทยแล้ว พวกเขาล้วนศักดิ์ศรีและมีสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนไทยทุกๆ คน

“กลุ่มชาติพันธุ์มานิ” ปัจจุบันมีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล และตรัง ซึ่งในอดีตเป็นป่าดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่จากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของมานิ เปลี่ยนแปลงไป ทั้งแหล่งอาหาร ที่อาศัย และการที่ต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น

กลุ่มชาติพันธุ์มานิในปัจจุบันจึงมีลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไป 3 ลักษณะคือ 1.กลุ่มที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมเคลื่อนย้ายที่อยู่หาของป่าล่าสัตว์ 2.กลุ่มที่ปรับตัวเริ่มตั้งถิ่นฐาน และ 3.กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร

ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม จึงได้มีการพัฒนาโครงการย่อยในแต่ละพื้นที่ๆ ขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะให้กับกลุ่มมานิในพื้นที่ต่างๆ

มานิ

นางธัญจิรา ชูบาล ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ กรณีกลุ่มชาติพันธุ์มานิบ้านน้ำตกนกรำ หมู่ที่1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง ซึ่งยังเป็น “กลุ่มที่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม” กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิในพื้นที่นี้มีประชากรทั้งหมด 33 คนแบ่งออกเป็น 13 ครัวเรือน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 12 คน วัยรุ่น 12 คน เด็กอายุ1-10 ปี จำนวน 9 คน โดยยังเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตามแหล่งอาหาร ซึ่งปัญหาของมานิกลุ่มนี้คือการไม่มีบัตรประชาชนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ตามสวัสดิการของรัฐได้

“ทางแกนนำชุมชนตำบลคลองทรายขาว และคณะทำงานของโครงการได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยทางชุมชนได้เสนอให้มีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับมานิ เพื่อที่จะได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐในด้านต่างๆ เช่นการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธ์เด็กแรกเกิด และสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งก็ทำให้เด็กๆ ได้รับวัคซีน หรือสมาชิกในชุมชนสามารถไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้มานิกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาตัวเองขึ้นไปตามลำดับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพัฒนาต่อไปก็คือเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะเด็กๆ เพื่อที่จะได้มีความรู้เท่าทันกับโลกข้างนอก รวมไปถึงองค์ความรู้ในการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกพืชอาหาร หรือเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากทุกวันนี้อาหารจากป่าที่นับวันจะน้อยลงไปทุกที”

มานิ

ด้าน นายเกียรติก้อง เส็นฤทธิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคของกลุ่มชาติพันธุ์มานิบ้านปลายคลองตง หมู่ที่ 2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวถึงการดำเนินงานในพื้นที่ว่า กลุ่มนี้เป็น “กลุ่มที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวร” มีอาชีพทำสวนยาง รับจ้างกรีดยาง และหาของป่า มีสมาชิกจำนวน 61 คน 16 ครอบครัว ชาย 19 คน หญิง 19 คน เด็กผู้หญิง 13 คน เด็กผู้ชาย 5 คน พิการผู้หญิง 1 คน คนชราผู้หญิง 3 คน คนชราผู้ชาย 1 คน ปัญหาของมานิกลุ่มนี้พบว่า มีปัญหาขาดความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน มีปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ยังใช้น้ำในลำคลองในการบริโภคและอุปโภค และการคมนาคมลำบาก เด็กๆ ที่จะไปโรงเรียนจะต้องเดินเท้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร

“ทางชุมชนและคณะทำงานมีเห็นร่วมกันว่าการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาสุขภาวะของกลุ่มมานิในพื้นที่กลุ่มนี้ก็คือเรื่องการจัดการน้ำ เนื่องจากมานิกลุ่มนี้ไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ยังใช้การตักน้ำจากในลำคลองเพื่อการอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นเหตุให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ ทางชุมชนจึงได้ดำเนินการเรื่องการจัดการระบบน้ำกินและน้ำใช้ โดยร่วมกับพี่น้องมานิทำฝายกักเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคในหน้าแล้ง มีการเดินท่อส่งน้ำเข้ามายังบ้านเรือนทุกหลังเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้โดยสะดวก มีการสร้างเครื่องกรองน้ำเพื่อใช้บริโภคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเมื่อมีน้ำใช้เขาก็จะสามารถใช้ห้องน้ำที่มีอยู่ได้อย่างถูกสุขอนามัย ทั้งนี้เพื่อสร้างสุขอนามัยให้เกิดขึ้นในชุมชนของมานิเอง และส่งผลดีลงไปถึงชาวบ้านที่อยู่ปลายน้ำด้วย”

มานิ

นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธ์มานิจำนวน 12 พื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมจำนวน 3 พื้นที่ กลุ่มที่เริ่มปรับตัวตั้งถิ่นฐานจำนวน 7 พื้นที่ และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร 2 พื้นที่

แต่ละกลุ่มก็จะประสบปัญหาที่แตกต่างกันตามบริบทของความเปลี่ยนแปลง เพราะในปัจจุบันเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในทุกด้านๆ ดังนั้นถ้าพี่น้องมานิมีความรู้ต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะของพวกเขาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คือ เกิดการพัฒนาทั้งชุมชนโดยรอบและชุมชนของมานิเอง เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ไม่เกิดปัญหาหรือช่องว่างระหว่างกัน

“ในระยะต่อไปสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องขับเคลื่อนต่อก็คือเรื่องของสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการศึกษา ที่จะต้องได้รับการพัฒนายกระดับความรู้ให้เท่ากันกับโลกสมัยใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างทัดเทียม มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม” นายอานนท์กล่าวสรุป

มานิมานิมานิมานิ