ไม่พบผลการค้นหา
โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายประเทศมีมาตรการกักตัว เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค แต่เมื่ออยู่บ้านนานๆ ก็ทำให้หลายคนเริ่มมีอาการ ‘เบื่อบ้าน’ วอยซ์ออนไลน์จะพาไปรู้จักกับอาการนี้ พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขจากนักจิตวิทยา

มาตรการปิดเมืองและกักตัวอยู่บ้าน เป็นมาตรการชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้จำนวนของผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ แต่การต้องอยู่ในบ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่สำหรับคนทั่วโลกในขณะนี้ นั่นก็คืออาการ “เบื่อบ้าน”

อาการเบื่อบ้าน ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Cabin Fever ที่มาจากคำว่า กระท่อม+ไข้ เพราะก่อนหน้านี้ อาการเบื่อบ้านมักจะใช้กับคนที่ต้องอยู่ในบ้านที่ห่างไกลจากตัวเมือง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ จึงจำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิดใจ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า

 

อาการเป็นอย่างไร

เวล ไรท์ นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการการวิจัยและคุณภาพการรักษาของสมาคมจิตวิทยาอเมริกันกล่าวว่า อาการเบื่อบ้านไม่ได้เป็นความผิดปกติทางจิตใจจนเรียกว่าเป็นโรคได้ จึงไม่มีนิยามอย่างเป็นทางการ แต่อาการเบื่อบ้านมักจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกเชิงลบจากการถูกจำกัดทางเดินทาง เช่น หงุดหงิด เบื่อ สิ้นหวัง กระสับกระส่าย และไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้

ทั้งนี้ บุคลิกและอารมณ์ของแต่ละคนเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดว่า จะอยู่ในบ้านได้นานเท่าไหร่ก่อนจะมีอาการเหล่านี้ หากธรรมชาติของคุณเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพบปะสังสรรค์กับผู้คน คุณก็มีแนวโน้มจะมีอาการเบื่อบ้านได้เร็วกว่าคนอื่น แต่สำหรับคนที่มองว่า การกักตัวอยู่บ้านจะเป็นวิธีที่ทำให้พวกเขาได้ทำความสะอาดบ้าน สะสางบิล จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า หรือหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ ก็อาจจะมีอาการเบื่อบ้านช้ากว่า

 

แก้อาการเบื่อบ้านยังไง?

  • สร้างกิจวัตรประจำวัน

แทนที่จะมองว่าช่วงกักตัวเป็นวันหยุดยาว เราควรจะทำกิจวัตรทุกอย่างให้เหมือนที่เคยทำก่อนการกักตัว ควรตื่นและนอนเวลาเดิม เพราะหากวงจรการหลับเปลี่ยนไปจากเดิม ก็จะไปกระทบกับร่างกายและจิตใจ และจะยิ่งทำให้วงจรการนอนหลับของเรายิ่งเพี้ยนไปกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังควร อาบน้ำแต่งตัว ไม่ใส่ชุดนอนไปตลอดทั้งวัน และควรกินอาหารแต่ละมื้อให้ตรงเวลา เพราะมนุษย์จะมีสิทธิภาพมากกว่า หากมีการกำหนดเวลาและโครงสร้างในการใช้เวลาของเรา 

เมื่อหลายคนทำงานหรือเรียนอยู่บ้านก็จะทำให้หลายคนมีเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิม ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มโครงการที่อยากจะทำ หรือสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ โดยกิจกรรมศิลปะ ดนตรี เขียน ทำอาหาร และอื่นๆ อาจช่วยกระตุ้นสมองของเราให้เกิดความคิดสร้างสรรคได้

 

  • รู้จักพอดี

การอยู่แต่ในบ้านอาจทำให้เกิดความเครียด เบื่อหน่าย แต่ก็ควรระวังเรื่องการกินอาหารและดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

การรับข่าวสารตลอดทั้งวันทุกวันก็จะทำให้เกิดความกลัวและกังวล ดังนั้น จึงควรเลือกอ่านสำนักข่าวที่เชื่อถือ เน้นรายงานข้อเท็จจริง เพื่อติดตามข่าวสารแค่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อวันก็พอแล้ว

 

  • ออกไปสูดอากาศและเคลียร์ลิสต์สิ่งที่เคยอยากทำ

ไรท์แนะนำว่า หากคุณไม่ได้ติดเชื้อหรือมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อมาแล้ว การกักตัวไม่ได้หมายความว่า คุณไม่สามารถออกจากบ้านได้เลย ดังนั้น จึงควรออกไปข้างนอก สูดอากาศบริสุทธิ์ ไปเดินเล่นบ้าง

นอกจากนี้ ปรับมุมมองมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในช่วงอยู่บ้านก็อาจช่วยให้เราได้ทำสิ่งที่เคยอยากทำมานานแต่ไม่มีเวลา เช่น หนังสือหรือนิตยสารที่ซื้อมากองไว้ที่บ้านแต่ที่ผ่านมาไม่มีเวลาอ่าน การกักตัวก็ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นในการเคลียร์ลิสต์หนังสือเหล่านี้ หรือเราอาจใช้เวลาไล่ฟังพอดแคสต์ที่อยากฟัง อัลบั้มเพลงใหม่ที่อยากลองฟัง หรือดูหนังที่เคยคิดว่าอยากดูแต่ไม่มีเวลาไปดู

 

  • ปรับเปลี่ยนพื้นที่บ้าง

พื้นที่ในบ้านก็มีผลกระทบกับความรู้สึกอยู่พอสมควร หากบ้านหรือที่อยู่อาศัยของคุณมีพื้นที่มากพอ คุณสามารถจะเปลี่ยนห้องที่อยู่บ้าง ปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็กน้อย ลองตกแต่งห้องใหม่ ก็จะทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป ซึ่งอาจส่งผลให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้

 

  • ติดต่อกับคนอื่น

การติดต่อพูดคุยกับคนอื่นเป็นวิธีที่ช่วยเรื่องจิตใจของคุณได้มากในช่วงที่ต้องกักตัว แม้จะไม่สามารถพบปะพูดคุยกันตัวต่อตัวได้ แต่ไม่ว่าจะอยู่ไกลกันแค่ไหนก็ตาม เทคโนโลยีสมัยนี้ก็ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ เช่น ส่งข้อความ คุยโทรศัพท์ วิดีโอคอลหาครอบครัวและเพื่อน เข้าร่วมกลุ่มออนไลน์ หรือแม้แต่ขอคำแนะนำจากคนอื่นว่าจะจัดการกับความเบื่อหน่ายและความหงุดหงิดใจยังไงได้บ้าง

การถามสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อน ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานอาจช่วยให้คุณหายเหงา คลายอาการเบื่อบ้านไปได้มาก และการถามไถ่ถึงสุขภาพกันก็ช่วยให้ทุกคนรู้สึกสบายใจขึ้นว่า ทุกคนก็อยู่ในเรือลำเดียวกัน มีความยากลำบากที่ต้องผ่านไปด้วยกัน

นอกจากนี้ คนที่ปกติไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัว แต่กลับมากักตัวอยู่บ้านร่วมกัน ก็อาจหากิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ เพื่อสานความสัมพันธ์ที่อาจห่างหายไป เช่น การเล่นบอร์ดเกมเป็นต้น

 

  • หาเวลาอยู่ห่างจากคนอื่น

หนึ่งในความท้าทายของอาการเบื่อบ้านก็คือ คุณไม่รู้สึก แต่คนที่อยู่ด้วยกันอาจกำลังเบื่อบ้านมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาได้ เพราะแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันและมีวิธีการจัดการความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต่างกัน 

สมดุลระหว่างการอยู่ด้วยกันและอยู่ห่างกันเป็นสิ่งจำเป็นต่อครอบครัวและคู่รักจำเป็น แต่การต้องกักตัวอยู่ในบ้านด้วยกันจะทำให้มีช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันมากเกินไป ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสำหรับหลายครอบครัว แม้ว่าพวกเขาจะรักกันก็ตาม หากมีพื้นที่ในบ้าน ก็ลองอยู่กันคนละมุมของบ้าน ในช่วงที่เราไม่สามารถทนที่แฟนเอาแต่ดูโทรทัศน์ในขณะที่เรากำลังอ่านหนังสือ หรือลองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำแยกกัน เวลาที่เราเบื่ออีกคน

 

  • ยอมรับความรู้สึกไม่สะดวกสบาย

การจัดการกับอาการเบื่อบ้านขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเราต่อความรู้สึกที่เรามี จากนั้นเราก็จะมีกระบวนการในการจัดการและยอมรับมัน 

ความท้าทายของการกักตัวรอบนี้คือเราไม่รู้ว่าวิกฤตจะจบลงเมื่อไหร่ และการไม่รู้กำหนดที่ชัดเจนอาจทำให้เราต้องคาดหวังว่า วิถีชีวิตแบบนี้อาจกลายเป็นเรื่องปกติ ในวันนี้อาจดูสิ้นหวัง แต่เมื่อเราอยู่แบบนี้ไปสักพัก เราอาจได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรืออาจค้นพบวิธีที่จะอยู่ในบ้านได้ดีขึ้น

หากเราไปถึงจุดที่สามารถยอมรับสถานการณ์ได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องชอบสิ่งที่เกิดขึ้น และนี่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดในช่วงนี้เท่านั้น เราอาจพบสิ่งที่เราควบคุมได้

 

ที่มา : CNN, Daily Cougar, Deutche Welle