ไม่พบผลการค้นหา
ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ 'หน้ากากอนามัยที่หายไป' หลังเพจดังในโลกออนไลน์แฉขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย เพื่อส่งขายไปยังประเทศจีน แต่กลับทำให้ของภายในประเทศขาดแคลน

จากกรณีที่เพจดังในโลกออนไลน์ งัดหลักฐานคนทำงานใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อส่งขายไปยังประเทศจีน ทั้งๆ ที่สถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยภายในประเทศเข้าขั้นวิกฤต ถึงขนาดที่บุคลากรทางการแพทย์ออกมาเรียกร้องขอหน้ากากอนามัยไม่หยุด

ซึ่งจากหลักฐานมีการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไว้คือ

28 ม.ค. 2563

ผู้ถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความต้องการซื้อหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในประเทศจีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่น (โควิด-19) โดยโรงงาน หรือผู้ประกอบการใดมีสต็อกสินเค้า ติดต่อมาด่วน

30 ม.ค. 2563

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจะสกัดการส่งออก รวมถึงจำกัดปริมาณซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรม แต่ยืนยันสต็อกที่มีใช้ได้ต่อเนื่องได้ถึง 4-5 เดือน (30 ม.ค.) ขอประชาชนอย่าแตกตื่น ด้านผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเองยอมรับ วัตถุดิบเริ่มไม่เพียงพอ หลังเมืองอู่ฮั่นที่มีโรงงานผลิตวัตถุดิบหลักปิด (อ่านข่าว : 'จุรินทร์' ชี้เป็นเรื่องมนุษยธรรม งดสั่งจำกัดการซื้อ-ส่งออกหน้ากากอนามัย)

ด้านผู้ที่ถูกสังคมออนไลน์กล่าวหา ก็โพสต์รูปการขนส่งสินค้า พร้อมบอกว่า คุณภาพคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ด้วยแล้วต้องพิถีพิถันและเอาใจใส่ ให้มากขึ้นกว่าเก่า ไม่ว่าสิ่งที่เราส่งมอบนั้นจะเป็นการให้หรือเป็นการค้า คุณภาพและคุณสมบัติเป็นสิ่งที่เราควรต้องตรวจสอบให้ดี

Recently Updated238.jpg

31 ม.ค.2563

ผู้ถูกกล่าวหาว่ากักตุนหน้ากากอนามัย โพสต์เฟซบุ๊ก บ่งชี้ว่ามีการขนส่งหน้ากากอนามัยจำนวนมากไปเก็บไว้ยังสถานที่แห่งหนึ่ง

1 ก.พ. 2563

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันหน้ากากอนามัยมีเพียงพอ ขอประชาชนอย่ากักตุน พร้อมตั้งวอร์รูมติดตามไวรัสโคโรนา คุมราคาสินค้าเวชภัณฑ์ให้มีราคาเหมาะสม หากมีพ่อค้าซื้อหน้ากากเพื่อกักตุนหรือส่งออกไปต่างประเทศก็จะให้วอร์รูมโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ พิจารณามาตรการแก้ปัญหาและกำชับปลัดกระทรวงพาณิชย์สามารถชี้แจงต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนได้ทันที เกี่ยวกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆ (อ่านข่าว : 'จุรินทร์' ยืนยันหน้ากากอนามัยมีเพียงพอ วอน ปชช. อย่าซื้อกักตุน)

7-8 ก.พ. 2563

ผู้ถูกกล่าวหาคนเดิมโพสต์ภาพ ทีมนักขาย และรูปการรับสินค้า และมีการเริ่มจัดตั้งองค์กร THAIHEALTH ที่ตรงกับชื่อแบรนด์

ด้านกรมการค้าภายใน ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกักตุน - ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พบผู้กระทำผิด 10 ราย และได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีในกระทงความผิดเกี่ยวกับการสร้างความปั่นป่วนราคาขายให้สูงกว่าความเป็นจริง ในมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อ่านข่าว : กรมการค้าภายในจับผู้กระทำผิดขายหน้ากากอนามัยเกินราคาได้ 10 ราย)

12-13 ก.พ. 2563

ผู้ถูกกล่าวหา โพสต์ภาพการพบปะพูดคุยกับตัวแทนของแจ็ก หม่า หรือผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่เข้าเยี่ยมโครงการต้านการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมจัดหาหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศจีน พร้อมโพสต์ภาพผลการออกแบบผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยชุด 3 สีดำคลาสสิก

17 ก.พ. 2563

โลกออนไลน์ เปิดเผยราคาการขายหน้ากากอนามัยที่ขายกันราคากล่องละ 700-900 บาท ตามเพจต่างๆ โดยร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยตรวจสอบด้วย

21 ก.พ. 2563

กระทรวงพาณิชย์ สั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยยกเว้นได้รับการอนุญาตจากเลขานุการคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) หากนำไปใช้ที่ต่างประเทศนำไปได้ ไม่เกิน 30 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ให้นำติดตัวได้ไม่เกิน 50 ชิ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2563 (อ่านข่าว : พณ. คุมเข้ม! ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย-ติดตัวไปตปท.ได้ไม่เกิน 30 ชิ้น/คน)

หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาว่ากักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อขายให้ประเทศจีนนั้น ยังมีโพสต์ต่างๆ ที่ระบุถึงการขายหน้ากากอนามัยอยู่เรื่อยๆ โดยโพสต์ระบุว่า ขายที่ชิ้นละ 14 บาท และขายทีละ 1 ล้านชิ้นเท่านั้น พร้อมโชว์หลักฐานการเงิน หรือพานายทุนจีนมาซื้อ ซึ่งต่อมา หลังจากหลักฐานดังกล่าวถูกเปิดเผยสู่โลกออนไลน์ มีการเชื่อมโยงกันว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่ากักตุนหน้ากากอนามัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ช่วยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัสจะออกมาเปิดเผยว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม

88321398_2322151471221341_2303568763900919808_n.jpg

ด้านเจ้าของโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กเช่นกัน (แต่โพสต์ถูกลบไปแล้ว) ระบุว่า ถูกคนของกรม (ไม่ระบุ) มานั่งเฝ้าเพื่อเอาหน้ากากอนามัยทั้งหมดที่ผลิตจากโรงงานไป นอกจากเจ้าหน้าที่จากกรมแล้วยังมีทหารมานั่งเฝ้าด้วย เนื่องจากกลัวโรงงานจะนำหน้ากากอนามัยไปขายให้กับที่อื่น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีหน้ากากอนามัยจำนวนหนึ่งไปวางขายอยู่ในประเทศจีน เลยอยากรู้ว่ามีอะไรแอบแฝงจากการกระทำทั้งหมดนี้หรือไม่ อีกทั้งทางหน่วยงานที่ว่ามาเอาหน้ากากอนามัยจากโรงงานของตนไปยังไม่ได้จ่ายเงิน ทั้งๆ ที่กว่าจะได้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแต่ละครั้งยากแสนเข็ญ

ด้านโลกออนไลน์ทวิตเตอร์ มีการผุดแฮชแท็ก #maskไม่พอบอกพอ และ #หน้ากากอนามัยหายไปไหน พร้อมแสดงความคิดเห็นแบบดุเดือด เพราะบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศยังไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยใช้ได้อย่างเพียงพอ แต่ทำไมกลับให้คนจำนวนหนึ่งกักตุนหน้ากากอนามัยเหล่านั้นออกไปขายยังต่างประเทศได้

9-3-2563 14-53-10.jpg9-3-2563 14-54-56.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง