เมื่อสัปดาห์ก่อน เจเค โรว์ลิง นักเขียนชื่อดังจากเรื่อง “แฮร์รี พอตเตอร์” ก่อตั้งมูลนิธิ ลูมอส เพื่อรณรงค์ให้มีการนำเด็กออกจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หยุดยั้งการพรากเด็กจากครอบครัวโดยอ้างข้อจำกัดทางสังคม และต้องส่งเด็กกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของตัวเอง หลังพบกรณีที่มีการปล่อยปละละเลยเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในยุโรปตะวันออก จนเด็กหลายคนอยู่ในภาวะใกล้อดตาย โดยมูลนิธิลูมอสจะรณรงค์ในหลายประเทศ เช่น มอลโดวา ยูเครน บัลแกเรีย โคลอมเบีย เฮติ เอธิโอเปีย เคนยา
โรว์ลิงกล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา (voluntourism) อาจกลายเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติต่อเด็กอย่างโหดร้ายทารุณได้ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในหลายประเทศยากจนยังมีพ่อแม่อยู่ แต่เด็กพวกนี้ถูกพรากจากพ่อแม่เพราะความยากจน ภัยธรรมชาติและความพิการ ไม่ใช่เพราะพ่อแม่เสียชีวิต ดังนั้น โรว์ลิงได้กล่าวเตือนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ไปทำงานอาสาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในประเทศยากจน แต่ให้ไปดูว่า อะไรทำให้เด็กเหล่านี้ต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
การท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา (voluntourism) เป็นกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ในประเทศตะวันตกนิยมสมัครไปทำงานจิตอาสาในประเทศยากจน รวมถึงการทำงานจิตอาสาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ในฐานะเป็นกิจกรรมหนึ่งในแผนการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านำเด็กมาต้อนรับนักท่องเที่ยว และหารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา โดยโรว์ลิงเรียกการท่องเที่ยวลักษณะนี้ว่าเป็น “การท่องเที่ยวสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า”
โรว์ลิงกล่าวว่า คนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โดยพ่อแม่ของเด็ก 8 ใน 10 คนในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทั่วโลกยังมีชีวิตอยู่ และแม้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอาจถูกก่อตั้งมาด้วยความตั้งใจดี แต่มักสร้างอันตรายที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการแยกเด็กออกจากพ่อแม่ การนำเด็กเข้าสู่สถาบันลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะทำกับเด็กได้ เพราะทำให้เด็กอ่อนแอต่อการถูกละเมิดและการค้ามนุษย์ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก และกระทบกับโอกาสในชีวิตของเด็กด้วย
ตัวเลขเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาสาที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
ทุกปี มีคนมากถึง 1.6 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานจิตอาสา องค์กรเซฟเดอะชิลเดรนระบุว่า นักท่องเที่ยวเชิงจิตอาสาต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อจะไปทำงานจิตอาสาในต่างประเทศ บางครั้งมีราคามากถึง 2,000 ดอลลาร์ (60,000 บาท) ต่อสัปดาห์ ส่งผลให้อุตสากรรมนี้มีมูลค่ามากถึง 2,600 ล้านดอลลาร์ (78,500 ล้านบาท) ต่อปี
องค์กรเซฟเดอะชิลเดรนในออสเตรเลียเปิดเผยว่า แหล่งที่ชาวออสเตรเลียนิยมมาท่องเที่ยวเชิงจิตอาสาได้แก่ บาหลี ไทย และกัมพูชา และตั้งแต่เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงจิตอาสาเริ่มบูมขึ้นก็มีจำนวนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์
โคลอี เซตเทอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ของมูลนิธิลูมอสกล่าวว่า สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหลายแห่ง โดยเฉพาะสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ดำเนินธุรกิจหาประโยชน์อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้มีคนเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายล้านดอลลาร์ แต่ทำให้เด็กเสี่ยงกับการถูกละเมิดในหลายทาง
มูลนิธิลูมอสระบุว่า เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าเด็กคนอื่นถึง 500 เท่า และมีแนวโน้มจะมีประวัติก่ออาชญากรรมมากกว่าคนอื่น 40 เท่า และอาจไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีมากกว่าคนอื่น 10 เท่า
สถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามีปัญหาอย่างไร?
ในบางกรณี เด็กถูกซื้อหรือเช่ามาจากพ่อแม่ที่ยากจน โดยสัญญาว่า เด็กจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น เพราะเมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอาสาเติบโตขึ้นอย่างมาก ธุรกิจก็ต้องการ “เด็กกำพร้า” มากขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวช่วยกันบริจาคมากขึ้น หรือจ่ายเงินเพื่อไปทำงานอาสาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ากันมากขึ้น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็จะมีกำไรมากขึ้น
เด็กหลายคนได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนัก ทั้งจากการถูกพรากจากพ่อแม่ของตัวเอง ทั้งจากสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะผูกพันผิดปกติ” พวกเขารู้สึกผูกพันกับคนใหม่ๆ นักท่องเที่ยวเชิงจิตอาสาคนใหม่ๆ พวกเขาไว้ใจให้คนใหม่ๆ มาเล่นด้วย มาอาบน้ำให้ และก็จากไปอย่างรวดเร็ว
สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหลายแห่งมักไม่ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของลูกค้า ทำให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นเป้าหมายที่สมบูรณ์แบบของคนที่มีความต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก โดยจูเลียนา รูห์ฟัส ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีราเคยปลอมตัวเข้าไปทำงานอาสาให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในกัมพูชา และพบว่า นักท่องเที่ยวเชิงจิตอาสาสามารถจะพาเด็กออกไปจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารใดๆ และสามารถพาเด็กออกไปในเวลากลางคืนได้ด้วย
ควรช่วยสังคมอย่างมีความรู้
แมดดี เคนท์ นักท่องเที่ยวแบบเบ็กแพกชาวออสเตรเลียเล่าว่า ในปี 2014 เมื่อเธออายุได้ 19 ปี เธอตัดสินใจไปเที่ยวแอฟริกา และไปทำงานอาสาที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและโรงเรียน เธอต้องเก็บเงินอยู่นานมากกว่าจะครบจำนวนที่องค์กรนั้นกำหนด เพื่อจะได้ไปทำงานอาสาในแอฟริกา และเมื่อไปถึง เธอก็รู้สึกตกใจมาก แม้จะลองหาข้อมูลไปก่อนแล้ว
เคนท์กล่าวว่า เธอถูกปาก้อนหิน และถูกถ่มน้ำลายใส่ และการทำงานกับเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กที่ถูกข่มขืน ถูกทรมานไม่ใช่สิ่งที่หลายคนสามารถรับมือได้ แต่ประสบการณ์นั้นก็ทำให้เธอค้นหาข้อมูลต่อและทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังขึ้น
แคเรน ฟลานาแกน ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กของเซฟเดอะชิลเดรนกล่าวว่า การทำตามแนวปฏิบัติและระเบียบเป็นสิ่งสำคัญต่อการการทำงานกับเด็ก แต่มีหลายคนที่ปฏิบัติกับเด็กอย่างไม่เหมาะสม ไม่ทำตามแนวปฏิบัติการคุ้มครองเด็ก
แล้วจะช่วยอย่างไร?
เซฟเดอะชิลเดรนแนะนำว่า หากเราต้องการช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้นสำหรับเด็กๆ ก็ควรต้องตั้งคำถามที่ถูกต้อง ได้แก่
ที่มา : BBC, ABC, The Guardian, Save The Children, Al Jazeera