ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา “หนทางสู่…รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ระดมนักวิชาการชำแหละเนื้อหา พร้อมตั้งคำถามถึงนักการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ต้องยืนยันเขียนหนุนร่างฉบับประชาชน

วันที่ 10 ธ.ค. 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาในหัวข้อ “หนทางสู่…รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ กล้า สมุทวณิช นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุนินทร์ พงศาปาน รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วรรณภา ติระสังขะ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ilaw

กล้า กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับปี 2540 ที่มีการร่างใหม่ และถูกประกาศใช้นั้น ทำให้กฎหมายหลายส่วนเปลี่ยนไป เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งประชาชนเลือกพรรคการเมืองจากนโยบาย เพื่อให้ได้คนเข้าไปผลักดันนโยบายให้เป็นจริง ต่อมาจึงเกิดการทำรัฐประหารในปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แต่ให้อำนาจกับประชาชน พร้อมยืนยันว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการแก้ไข 

กล้า กล่าวอีกว่า ถ้าหากใครจะเสนอแก้ไขอยากให้ระวัง แม้ศาลจะบอกให้ประชาชนทำประชามติ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าแล้วแก้ใหม่ได้ แต่ตอนทำประชามติควรจะระบุลงไปเลยว่า จะตั้ง ส.ส.ร. กี่คน มาจากไหน ให้เขียนโดยละเอียด และชัดเจนไปเลย ซึ่งสุดท้ายนี้อย่าละทิ้งความฝัน แม้ว่าในคืนนั้นจะไม่เห็นดาวเลยก็ตาม 


The great compromise

ด้าน พิชญ์ กล่าวว่า ถ้าเราจะเข้าใจเหตุการณ์ในวันนี้ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่ามันยังไม่จบ ที่ผ่านมาตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่มีฉบับไหนสมบูรณ์ แต่ความฝันคือเชื่อว่า มันมีฉบับสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องการแก้ไขอยู่ตลอดเวลา และแก้ไขทั้งสองฝ่าย ทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่แบบ The great compromise ซึ่งเป็นเพียงจุดตั้งต้นของสังคม เป็นการประนีประนอมที่ต้องสู้กันอยู่ตลอดเวลา 

พิชญ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนในฐานะผู้กระทำทางการเมืองนั้น การที่จะออกมาสู้ต้องใช้เวลานาน มีหลายเหตุผลที่ทำให้ออกมา หรือไม่ ถ้าคิดตามหลักคนที่ไม่สู้ คิดคำนวณถึงต้นทุนที่ต้องเสียไป การต่อสู้ที่ไม่มีอะไรจะเสียแล้วนั้นไม่มีจริง แต่ต้องทำให้เห็นว่า การออกมาต่อสู่ต้นทุนถูกลง และปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สามารถเข้าถึงประชาชนเพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมันไม่ง่าย ยังคงต้องต่อสู้กันไป ให้ทุกฝ่ายรับได้ สำหรับผมรัฐธรรมนูญด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีว่าจะเป็นประชาธิปไตย 


กฎหมายไม่สูงสุด

ขณะที่ มุนินทร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนโครงสร้างกฎหมายทั้งปวง เหมือนการจะสร้างบ้าน ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่ในประเทศไทยดูจากอดีตที่ผ่านมา เรายังไม่มีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่เป็นการค่อยมาคิดทีหลังว่าทำยังไงให้บ้านแข็งแรง ซึ่งการเรียนการสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวิชาสำคัญตั้งแต่แรก ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญมาก และการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นกฎหมายสูงสุด 

“รัฐธรรมนูญของไทยเป็นกฏหมายสูงสุด เฉพาะตอนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ยุบพรรคการเมือง ปลดนายกฯ และจะกลายเป็นกฎหมายไม่สูงสุดทันทีเมื่อต้องใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน” มุนินทร์ กล่าว 

มุนินทร์ ระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่สนใจเพียงพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจในการจัดการประชาชนเท่านั้น และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐคือต้องปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เพียงแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องสร้างทัศนคติและค่านิยมในหมู่กฎหมาย เจเาหน้าที่ของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายสูงสุด สิทธิเสรีภาพชั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับการปกป้อง และต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าคุณค่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นคุณค่าสูงสุดอย่างแท้จริง 


ฉันทามติของการอยู่ร่วมกัน

ด้าน วรรณภา ระบุว่า เราไม่ได้เกิดมาเป็นพลเมือง แต่รัฐธรรมนูญทำให้เราเป็นพลเมือง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องมือที่สามารถรับใช้ประชาชนได้ ข้อบัญญัติที่ระบุไว้ว่าเราเท่าเทียมกัน หรือเราอาจมีสิทธิเสรีภาพใหม่ ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก แบบไม่มีวันหยุด ทำให้ประชาธิปไตยมีชีวิต และต้องเป็นพื้นที่เปิดเสมอ เพื่อให้สามารถมาพูดคุยกัน เข้าใจว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ท้ายที่สุดแม้จะใช้เวลามากเพียงไหน ทั้งหมดจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม หาฉันทามติในการอยู่ร่วมกันให้ไดัเอง


นักการเมืองต้องหนุนเจตนารมณ์ประชาชน

ด้าน ยิ่งชีพ ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนถูกยื่นเข้าไปพิจารณาในสภา 4 ครั้งแล้ว ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการเข้าชื่อกันอย่างน้อย 50,000 คน และต้องมีวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คนถึงจะผ่านในวาระแรก โดยที่ผ่านมาถูกปัดตกทั้งหมดเพราะได้คะแนนเสียงเห็นด้วยจากส.ว.ไม่ถึง นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญแต่ก็ถูกปัดตกเช่นกัน ทั้งจาก 26 ร่าง ผ่านเพียงแค่ 1 ร่าง ที่เป็นเรื่องของนักการเมือง 

ยิ่งชีพ เสริมอีกว่า ต่อจากนี้ให้ตั้งคำถามกับนักการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งสมัยต่อไปอีกไม่นานนี้ว่า พร้อมที่จะยืนยันเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไม่ หากเรายืนยันแบบนั้น นักการเมืองก็จะเห็น และพร้อมจะแก้ไข การได้มารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็มีโอกาส