กรมกิจการพลเรือนทหารบก ได้แจ้งให้ผู้จัดรายการของสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก งดเปิดเพลง 'หนักแผ่นดิน' มาร์ชกองทัพบก และความฝันอันสูงสุด ในรายการวิทยุของ ทบ.ทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะทำให้สังคมนำไปตีความในทางที่ผิด เพราะแนวทางของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการ (ผบ.ทบ.) ต้องการให้กำลังพลตระหนักในหน้าที่ และสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
โดยให้เปิดเพลงผ่านเสียงตามสายในกองบัญชาการกองทัพบก 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 07.20 น. เวลา 12.20 น. และเวลา 16.20 น. และให้หน่วยทหารทั่วประเทศเปิดเพลงดังกล่าวด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ พันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงกระแสข่าวกรณีมีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้กรมกิจการพลเรือนทหารบก เปิดเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจกำลังพล ในวิทยุเครือข่ายกองทัพบกทั่วประเทศ ว่า เป็นเรื่องปกติที่กองบัญชาการกองทัพบกจะมีการเปิดเพลงผ่านเสียงตามสายให้กำลังพลได้รับฟัง
ในแต่ละวันจะเปิดเพลงปลุกใจกำลังพล 2 ครั้ง คือ ก่อนเวลา 08.00 น. และช่วงเวลา 12.00 น. อันประกอบด้วยเพลงความฝันอันสูงสุด เพลงมาร์ชกองทัพบก และเพลงหนักแผ่นดิน ที่เน้นปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ รักแผ่นดิน มีความจงรักภักดี โดยเป็นการเปิดเพลงสลับกันไป
โดยวันนี้ (18 ก.พ. 2562) มีการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในช่วงเที่ยง ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความหมายให้ตระหนักและหวงแหนแผ่นดินไทยที่อยู่อาศัย
ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ และสื่อกระแสหลักต่างๆ เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.อภิรัชต์ ว่ามีความเห็นอย่างไรกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้ปรับลดงบประมาณกองทัพหรือปฏิรูปกองทัพ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ตอบว่า "ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน"
ขณะที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล สมาชิกของตระกูลเก่าแก่ ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมเพลง "หนักแผ่นดิน" โดยระบุว่า "มิได้จะพูดถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด มิได้ชี้นำแต่อย่างใด แค่จะบอกว่าเพลงนี้ แต่งมาสี่สิบกว่าปีแล้ว (ลูกหลานบางคนยังไม่เกิด) ร้องกันมาหลายเวอร์ชั่น แต่พอได้ยินอีกครั้ง ทำไมเนื้อร้องช่างเข้ายุคเข้าสมัยกับปัจจุบันจังเลย"
หลังจากนั้นได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนที่ใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งคนบางส่วนสนับสนุนเพลงดังกล่าว แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการปลุกกระแสเพลงหนักแผ่นดินเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเป็นการแบ่งแยกคนที่เห็นต่างจากกองทัพให้กลายเป็นคนไม่รักชาติ เพราะเพลงนี้เป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อที่เปิดในสถานีวิทยุกองทัพบก โจมตีขบวนการนักศึกษาและประชาชนจนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่รุนแรง และทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: