ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ได้รับแจ้งวานนี้ว่า เกิดกรณีการติดตามคุกคามนักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปกครอง ได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อขอเข้าพบและพูดคุยกับผู้ปกครอง พร้อมกับเด็กนักเรียนอย่างน้อย 2 ราย คนหนึ่งเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 อายุ 14 ปี ส่วนอีกคนเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 อายุ 18 ปีโดยมีการอ้างว่า นักเรียน 2 คน ได้แสดงความคิดเห็น และโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
สำหรับกรณีแรก นักเรียน ม.2 เล่าว่า แม่ของเขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ระบุจะมีการนำเอกสารเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 เข้าไปส่งให้กับแม่และนักเรียนคนดังกล่าว อีกทั้งจะขอพูดคุยกับทั้งสองคนเกี่ยวกับการแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลต้องการให้เด็กคนดังกล่าว ลบโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และกล่าวทำนองว่า “หากน้องทำการลบโพสต์ก็จะไม่มีหมาย”
การติดต่อทางโทรศัพท์จากทางเจ้าหน้าที่ดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับครอบครัวของนักเรียนเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องอาจถูกดำเนินคดี และการคุกคามจากเจ้าหน้าที่โดยไม่ทราบรายละเอียดหรือกระบวนที่กำลังเกิดขึ้นชัดเจน แต่ทางผู้ปกครองก็ได้ปฏิเสธการขอเข้าพบเพื่อพูดคุยที่บ้านของเจ้าหน้าที่สันติบาล
ต่อมากลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ในนามกลุ่ม NU-Movement ได้ติดต่อเพื่อพูดคุยกับนักเรียนคนดังกล่าว ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะได้มีการสอบถามข้อมูลไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก เกี่ยวกับการออกหมายเรียกคดีมาตรา 112 ต่อเด็กอายุ 14 ปี นั้นเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งทางผู้กำกับยืนยันว่ายังไม่มีการออกหมายเรียกคดี มาตรา 112 แต่อย่างใด
จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดต่อเพื่อขอเข้าพบจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลอีกครั้ง หรือยังไม่มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาที่บ้านของนักเรียนคนดังกล่าวแต่อย่างใด
กรณีที่ 2 เกิดขึ้นกับนักเรียน ม. 6 โดยในวันที่ 22 ก.พ. 2564 ผู้ปกครองของเขาได้รับการแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้าน ว่าลูกชายได้ไปโพสต์ข้อความบนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และได้มีการแจ้งเรื่องมา จึงอยากให้ลูกลบออก แต่ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้มีการระบุว่าเป็นโพสต์ไหน อย่างไร
ต่อมาในวันที่ 23 ก.พ. 64 ผู้ปกครองของนักเรียนรายนี้ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าอยากมาพูดคุยกับลูกชาย โดยแจ้งว่าอยากขอนัดหมายในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน แต่ผู้ปกครองไม่อยากให้มาพบที่บ้าน จึงได้นัดหมายกับเจ้าหน้าที่ที่ร้านกาแฟแทน
เมื่อนักเรียนรายนี้ พร้อมกับผู้ปกครอง ได้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงเย็น พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย รออยู่ โดยเข้าใจน่าจะมาจากสภ.เมืองพิษณุโลก รวมทั้งยังมีผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านมาร่วมพูดคุยด้วย เจ้าหน้าที่มีเอกสารประมาณ 5-6 แผ่นมาด้วย แต่ไม่ได้ให้ดู จึงไม่ทราบว่าเป็นเอกสารอะไร แต่นักเรียนคาดว่าน่าจะเป็นข้อความที่แชร์ในเฟซบุ๊กของเขา ที่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่มาติดตาม
เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งมาจากทางกรุงเทพฯ ให้มาตรวจสอบดูเรื่องเยาวชนที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นหน่วยงานไหนหรือผู้ใดเป็นคนออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งถึงโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของนักเรียนรายนี้สองโพสต์ เป็นโพสต์ราวช่วงเดือน ธ.ค.2563 – ม.ค. 2564 ที่แชร์มาจากเฟซบุ๊กเพจของ “ป้าหนิง DK” และเพจ “คนไทยยูเค”
นักเรียนรายนี้ระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่แชร์มาเท่านั้น ไม่ได้มีการเขียนข้อความใดประกอบ โดยเขาใช้ชื่อสกุลจริงในภาษาอังกฤษเป็นชื่อเฟซบุ๊ก ทำให้เป็นที่มาของการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามได้
นักเรียนได้ระบุกับตำรวจได้ลบโพสต์ไปหมดแล้ว ก่อนมาพบกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ว่าอะไรอีก และได้ถามข้อมูลส่วนตัวเพิ่มเติม เช่น ชื่อสกุล สถานศึกษา หรือแผนการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งเบอร์ติดต่อของนักเรียน แต่เขาปฏิเสธไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ไป โดยที่ทราบว่าตำรวจมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองอยู่แล้ว การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปนักเรียนเอาไว้ด้วย ก่อนแยกย้ายกันกลับ
นอกจาก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับแจ้งอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. 2563 ได้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี ในจังหวัดพิษณุโลก ที่เคยขึ้นร้องเพลงแร็ปในการชุมนุมในจังหวัดพิษณุโลกครั้งหนึ่ง ได้ถูกกลุ่มชาย 4-5 คน เดินทางมาพบที่บ้านพัก ระบุตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ ไม่แสดงบัตรประจำตัวหรือเอกสารใดๆ ได้ระบุว่าว่าส่วนกลางได้ส่งมาให้มาทำความเข้าใจ โดยแจ้งให้นักเรียนคนดังกล่าวลบข้อความที่โพสต์และแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยมีการกล่าวทำนองว่าอย่าแชร์อีก เพราะมีความสุ่มเสี่ยงเรื่องมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถ้าทำอีก คราวหน้าจะใหญ่กว่านี้ มีคนมาเยอะกว่านี้ จะจับเข้าสถานพินิจฯ อีกทั้งระหว่างการพูดคุยยังได้มีการถ่ายภาพการสนทนาและถ่ายภาพบ้านไว้อีกด้วย
นักเรียนคนดังกล่าวเล่าว่า ผู้ปกครองตนอยู่ในเหตุการณ์พูดคุยที่เกิดขึ้นด้วย หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวในระยะแรก ทำให้ครอบครัวเกิดความกลัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของตนเอง
ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า กระบวนการเข้าติดตามถึงบ้านนักเรียนดังกล่าว เพื่อพูดคุยหรือกระทั่งเป็นการพูดเชิงข่มขู่ ไม่ใช่กระบวนการที่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติการได้ จนอาจไปถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หลายครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่ระบุชื่อสังกัด และไม่แสดงบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นใครแอบอ้างมากระทำการดังกล่าวก็ได้ ไม่ต่างจากโจรผู้ร้าย รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างน้อย 3 ราย ในจังหวัดพิษณุโลก เป็นเพียงตัวอย่างกระบวนการนอกกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มาอย่างเงียบๆ เพื่อห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาช่วงระยะหนึ่งแล้ว