ทำให้อำนาจ ‘3ป.’ ในกองทัพลดลง ไม่ได้คุมเบ็ดเสร็จ จนมาถึงยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ‘ไม่ล้วงลูก’ กองทัพเท่าใดนัก ปล่อยให้เป็นไปตามที่ ผบ.เหล่าทัพ เสนอขึ้นมา แม้จะมี ‘คลื่นใต้น้ำ’ เกิดขึ้นตามมาก็ตาม
แต่การจัดโผแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้เป็นช่วง ‘เปลี่ยนผ่านรัฐบาล’ เป็นเสมือนช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะต้อง ‘ลงหลังเสือ’ หรือลงจากอำนาจ ทำให้ต้องระวังโดน ‘เช็กบิลย้อนหลัง’ ได้ รวมทั้งการจัดแถวกองทัพส่งท้าย ในสถานการณ์ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะ ‘กองทัพ’ ถือเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ในการ ‘ต่อรองอำนาจ’ ในซีก ‘ชนชั้นนำ-ขั้วอำนาจเดิม’ ทั้งในบริบทที่ ‘การเมืองเปลี่ยนขั้ว’ หรือ ‘การเมืองข้ามขั้ว’ นั่นเอง
โดยเฉพาะ ‘กองทัพบก’ ที่เป็นเหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด เปรียบเป็น ‘ขุมกำลังปฏิวัติ’ การเลือก ผบ.ทบ. คนต่อไป จึงชี้ชะตาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และขั้วอำนาจเดิม
ที่ในเวลานี้ชื่อ ผบ.ทบ. คนต่อไป คือ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. (ตท.23 จปร.34) ที่เติบโตสายทหารเสือฯ ร.21 รอ. เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ (ตท.12 จปร.23)
อีกทั้ง พล.อ.เจริญชัย ครองอาวุโสเป็น ‘พลเอกพิเศษ’ และเป็น ‘ทหารคอแดง’ ซึ่งตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะต้องเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ด้วย
แต่ก็ต้องวัดพลังกับ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.23 ที่เติบโตมาจาก ร.2 รอ. เป็นสายตรง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์
(พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. (ตท.23 จปร.34))
(พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.23)
ในส่วน บก.กองทัพไทย เรียกว่ามีศึกในระหว่าง ‘ทหารคอแดง-คอเขียว’ ที่สะท้อนภาพ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ภายในกองทัพ ฉายผ่าน ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างศึกชิงเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด คนต่อไป ระหว่าง พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด ที่โยกมาจาก ทบ. กับ พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร ลูกหม้อ บก.กองทัพไทย ที่เป็น ‘ทหารคอเขียว’
โดย พล.อ.ทรงวิทย์ เติบโตจาก ร.11 รอ. เป็น ‘ราบ 11 คอนเนกชั่น’ ที่เติบโตใน ทบ. แต่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ไม่ได้ เพราะติด ‘ม่านประเพณี’ ที่ ผบ.ทบ. จะต้องจบ ร.ร.นายร้อย จปร. จึงต้องโยกออก ทบ. มาโตที่ บก.กองทัพไทย แทน
ด้วยเหตุ พล.อ.ทรงวิทย์ ชีวิตพลิกผันมีปัญหาเรื่องการ ‘ปรับตัว’ ในการเรียน ร.ร.เตรียมทหาร หลังเข้าไปเรียนได้ไม่นาน จึงต้องไปสอบเข้าเรียน ร.ร.นายร้อย VMI หรือ Virginia Military Institute เกือบไม่ได้รุ่น ตท.24
ซึ่งเป็น ‘เงื่อนไข’ ที่พูดใน บก.กองทัพไทย ว่า ผบ.ทหารสูงสุด จะต้องเป็น ประธานมูลนิธิศิษย์เก่า ร.ร.เตรียมทหาร ด้วย ชื่อ พล.อ.ทรงวิทย์ จะมีความ ‘ชอบธรรม’ หรือไม่ เกิดมาจาก ‘คลื่นใต้น้ำ’ ที่เป็น ‘ทหารคอเขียว’ หลังโดน ‘แช่เข็ง’ มาแล้ว 3 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็น ‘ทหารม้าคอแดง’ ที่โยกออกจาก ทบ. มาอยู่ บก.กองทัพไทย ผ่านสายสัมพันธ์ ตท.20-21 ระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. (ตท.20) กับ พล.อ.เฉลิมพล (ตท.21) ที่เป็น ‘เพื่อนกัน’ เหตุเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ เรียนจบไม่ทันเพื่อน ตท.20
(พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร)
ในกองทัพทราบดีว่า พล.อ.เฉลิมพล ได้รับแรงหนุนจาก พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และคิวต่อไปคือ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่เติบโตจาก ร.11 รอ. สายเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ นั่นเอง ดังนั้น พล.อ.ทรงวิทย์ กำลังจะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็น ‘ทหารคอแดง’ คนที่ 2
ทำให้ ‘ทหารคอเขียว’ ที่เป็นลูกหม้อ บก.กองทัพไทย ทัดทานในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะ ‘ทหารคอแดง’ สกัด ‘ทหารคอเขียว’ มาแล้ว 2 คน คือ พล.อ.ณตฐพล บุญงาม อดีต เสธ.ทหาร กับ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม ที่ต้องข้ามไปเป็น เลขาธิการ สมช. ก่อนเกษียณฯ แทน
กลายเป็นว่า บก.กองทัพไทย กำลังถูก ‘ทหารคอแดง’ รุกคืบเข้ามามากขึ้น เท่ากับเป็นการ ‘ปิดโอกาส’ การเติบโตของ ‘ทหารคอเขียว’ ที่มีบริบทต่างจาก ทบ. ที่การเกิดขึ้นของ ‘ทหารคอแดง’ ก็เพื่อ ‘กระชับอำนาจใหม่’ ช่วงหลังการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะ ‘หน่วยคุมกำลัง-ขุมกำลังปฏิวัติ’ ที่กลายเป็น ‘ทหารคอแดง’ ไปเกือบหมดแล้ว
(พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด)
กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง ‘ทหารคอแดง-ทหารคอเขียว’ ภายใน ทบ. และ บก.กองทัพไทย ที่กัดกร่อนไปถึงระดับ ‘ทหารระดับล่าง’ เห็นได้ชัดจากผลการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ ‘พรรคก้าวไกล’ เจาะค่ายทหาร ทบ. - บก.กองทัพไทย ในพื้นที่ กทม. ได้ หนึ่งในสาเหตุคือการดูแล ‘ทหารระดับล่าง’ ที่ไม่ทั่วถึง เหตุจาก ‘ช่องว่าง’ ระหว่างผู้บังคับบัญชากับกำลังพลระดับล่าง รวมทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่าง ‘หน่วยทหาร’ ที่เป็น ‘ทหารคอแดง-ทหารคอเขียว’
มากันที่ ‘ทุ่งดอนเมือง’ กองทัพอากาศ กับ 3 แคนดิเดต ที่เป็นเพื่อน ตท.23 เกษียณฯ ปี 2567 พร้อมกัน ได้แก่ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. , พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้ช่วย ผบ.ทอ. และ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสนาธิการทหารอากาศ อยู่ที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทบ. จะเลือกใครเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป และจะมี ‘อิสระ’ ได้เลือกจริงหรือไม่
เพราะ พล.อ.อ.อลงกรณ์ เรียกว่า ‘พลิกโผ’ มาชนิด ‘เหนือเมฆ’ ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. จากการเลือกของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ที่ครอบครัวของทั้งคู่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งตามสูตร พล.อ.นภาเดช วางให้ พล.อ.อ.ณรงค์ เสธ.ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนต่อจาก พล.อ.อ.อลงกรณ์ ซึ่ง พล.อ.อ.นภาเดช กับ พล.อ.อ.ณรงค์ เคยเป็นนักวิ่งกรีฑามาด้วยกัน เคยเติบโตจาก กองบิน 1 ฝูงบิน 103 มาด้วยกัน
ส่วน พล.อ.อ.ชานนท์ ถูกมองเป็นเด็กของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. ที่เคยเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. ชนิดพลิกโผ เพื่อหวังให้ พล.อ.อ.แอร์บูล เสนอ พล.อ.อ.ชานนท์ เป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป
แต่สุดท้าย พล.อ.อ.แอร์บูล คุมไม่ได้ มีการปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆใน ทอ. ไม่เดินตามแนวทาง พล.อ.อ.มานัต ก่อนส่งท้ายด้วยการเสนอชื่อ พล.อ.อ.นภาเดช เพื่อน ตท.21 นายเรืออากาศ 28 ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. แทน
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ชานนท์ เคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน 403 อดีตผู้บังคับการกองบิน 4 ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศสวีเดน
ส่วน พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ เติบโตจากกองบิน 1 ก่อนขยับไปเป็นผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23 ผู้บังคับการกองบิน 4 เคยเป็นผู้บังคับการกรม นร.นายเรืออากาศ รักษาพระองค์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศเยอรมนี
หากถามว่าทั้ง 3 ชื่อ ที่ถูกโฟกัสและถูกมองว่าจะ ‘ปลดชนวน’ ความขัดแย้งภายใน ‘ลูกทัพฟ้า’ คือชื่อ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ แต่เป็นที่พูดกันในรั้ว ทอ. ถึง ‘อาถรรพ์ กองบิน 4’ ที่มักไปไม่ถึงฝัน
( พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้ช่วย ผบ.ทอ.)
(พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ตท.23))
(พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ทร. (ตท.25))
สุดท้ายที่ ‘ศึกในลูกประดู่’ การเลือก ผบ.ทร. คนต่อไป เรียกว่า ‘คุกรุ่น’ ระหว่างแคนดิเดต 3 คน พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. (ตท.23) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ตท.23) และ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ทร. (ตท.25) น้องชาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. แต่หากถามว่าชื่อใดเต็งหนึ่งในเวลานี้ คือ พล.อ.ชลธิศ ที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานโครงการเรือดำน้ำฯ แต่ชื่อพล.ร.อ.ชลธิศ กับ พล.ร.อ.อะดุง ก็ถูกโยงไปกับเหตุการณ์ รล.สุโขทัย อับปาง
ส่วน พล.ร.อ.สุวิน ก็มีกำลังภายในที่มี ‘คอนเนกชั่น’ กับฝั่งการเมือง ที่อยู่ระหว่างรอเวลาช่วงชิงนำจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต อีกทั้ง พล.ร.อ.สุวิน เป็น ตท.25 ที่ครองอาวุโสกว่ารุ่นพี่ ตท.23 เพราะติดยศ ‘พลเรือเอก’ มาก่อน
(พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. (ตท.23) )
ทั้งหมดนี้เป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’ ของศึกในระหว่าง ‘สายเลือดทหาร’ ด้วยกัน ผ่านภาพความเหลื่อมล้ำ ระหว่าง ‘ทหารคอแดง-คอเขียว’ คอนเนกชั่นกับ ‘อำนาจการเมือง’ รวมทั้ง ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ที่ยังคงมีอยู่ใน ‘กองทัพ’ และการ ‘วัดพลัง’ ระหว่าง ‘เพื่อน’ ด้วยกันเอง