ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ก้าวไกลลุกขึ้นเสนอญัตติกลางสภาขอเลื่อนวาระพิจารณาญัตติด่วน 'ขบวนเสด็จ' เจอ พปชร.เสนอญัตติโหวตขานชื่อ ที่สุดสภามีมติไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติดังกลา่าวด้วยมติ 246 ต่อ 45 เสียง ด้านหัวหน้าเพื่อไทยโวยรัฐบาลใช้วิธีการโหวตขานชื่อ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมโดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระได้เปิดให้สมาชิกใช้สิทธิหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากนั้นก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดย วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอให้เปลี่ยนระเบียบวาระเพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. พ.ศ. 2563 ที่ พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐมพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

ด้าน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงเรื่องการเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมในที่ประชุมสภาฯ ว่า ในข้อบังคับฯให้มีคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หากมีกรณีที่หารือก่อน ควรใช้กลไกดังกล่าวให้วิปสองฝ่ายหารือกันก่อน ยืนยันสมาชิกให้ความสำคัญทุกระเบียบวาระ ดังนั้นระเบียบวาระทีกำหนดไว้ก็เสนอโดยสมาชิกและเลื่อนกันเองอยู่แล้ว และขอให้ฝ่ายค้านหารือกันในที่วิปด้วย ไม่เช่นนั้นพวกเราจะจำเป็นยืนตามระเบียบวาระ แต่ไม่ได้ไม่ให้ความสำคัญระเบียบวาระใดวาระหนึ่ง

ทำให้ ชวน กดออดเรียกสมาชิกเข้ามาลงมติในการเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม

นิโรธ ชินวรณ์ วิปรัฐบาล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ประชุมสภา B6745DFE32B7.jpegชวน 9855154A9.jpegวรรณวรี ประชุมสภา ก้าวไกล อมรัตน์ -03D3FBBE82B1.jpeg

จากนั้น นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล โดยเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ โดยให้มีการลงคะแนนเปลี่ยนระเบียบวาระแบบเปิดเผยโดยให้ลงมติแบบขานชื่อ เพื่อไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอมา

จากนั้น ที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติ 219 เสียงต่อ 49 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียงโดยเห็นด้วยให้มีการลงมติด้วยการขานชื่อ ตามที่ นิโรธ เสนอ

ทำให้ที่ประชุมสภาฯ ต้องใช้วิธีการขานชื่อ ส.ส.ทีละคนเพื่อลงมติว่าจะเห็นด้วยให้เปลี่ยนระเบียบวาระตามที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอหรือไม่

67CCDDE2-5234-4147-9D09-48BD47C55DB1.jpeg

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แจ้งต่อที่ประชุมว่า งดออกเสียง โดยเห็นว่าการลงมติแบบขานชื่อเป็นการรบกวนสภาฯ โดยไม่จำเป็น เช่นเดียวกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิงดออกเสียง

จากนั้นเวลา 12.23 น. ชวน แจ้งต่อที่ประชุมถึงผลการลงมติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 45 เสียง ไม่เห็นด้วย 246 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุมตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ ทั้งนี้การลงมติแบบขานชื่อพรรคก้าวไกลต่างใช้สิทธิลงมติเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระเบียบวาระ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่ใช้สิทธิไม่แสดงตนในการลงคะแนน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลใช้สิทธิลงมติไม่เห็นด้วย

ณัฐชา ก้าวไกล สุทธวรรณ วรรณวรี  AAD1-F0BD26954769.jpegณัฐชา ก้าวไกล สุทธวรรณ วรรณวรี  8DF-6102-4BD7-899B-E4017BC15003.jpeg


‘ก้าวไกล’ ผิดหวังถูกคว่ำเลื่อนญัตติขบวนเสด็จ

ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม โฆษกพรรคก้าวไกล และ วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงกรณีที่ประชุมสภามีมติเลื่อนการพิจารณาญัตติความวุ่นวายในขบวนเสด็จออกไป 

ณัฐชา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่สภาไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องด่วนที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นไปตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2563 ซึ่งกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เรารอคอยการพิสูจน์ความจริงกรณีความวุ่นวายในเรื่องขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบกระเทือนจิตใจประชาชนทุกฝ่าย 

ทางพรรคก้าวไกลต้องการให้มีการนำความจริงมาเปิดเผย โดยมุ่งหมายให้สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่สมเกียรติกับการเป็นตัวแทนของประชาชน เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการขอเลื่อนญัติดังกล่าวออกไป โดยนำเรื่องสถานบันเทิง บ่อนการพนันมาพิจารณาก่อนแล้ว และเมื่อถึงสัปดาห์นี้ ทางสภาผู้แทนราษฎรยังคงยืนยันไม่ให้นำญัตติสืบหาข้อเท็จจริงกรณีขบวนเสด็จเข้าพิจารณาอีก โดยฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้มีการลงมติแบบขานชื่อ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ที่เสนอญัตติ 

การที่ประชาชนถูกตั้งข้อหาในความผิดตามมาตรา 110 ซึ่งมีอัตราโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ควรได้รับความยุติธรรม แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับไม่เห็นความสำคัญแต่อย่างใด เพราะในวันนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับการนำญัตติดังกล่าวมาพิจารณาเพียง 45 เสียงเท่านั้น อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลยืนยันจะดำเนินการติดตามผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด 

ส่วนกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆลงมติไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงนั้น ณัฐชา ระบุว่า เป็นเรื่องมติของแต่ละพรรค และถือว่าเป็นการตัดสินใจของแต่ละพรรค ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เคารพการตัดสินใจเหล่านั้น ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าญัตติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร และคาดว่า ประชาชนไม่ว่าจะฝักฝ่ายใดล้วนแต่ต้องการที่จะทราบความจริงกรณีความวุ่นวายในขบวนเสด็จที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องราวเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน