การจราจรติดขัด อากาศร้อนอบอ้าว และฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) อันตรายที่ปกคลุมไปทั่วกรุงเทพฯ ไม่เป็นอุปสรรคต่อ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ในการเดินทางไปพบกับ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ที่ย่านรามคำแหง
ท่ามกลางข้อมูลด้านผลกระทบและอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรตระหนักและมีมาตรการเชิงกฎหมายแก้ไขปัญหานี้เสียที ไม่ใช่เพียงแค่รณรงค์และปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองเพียงอย่างเดียว
PM (particulate matter) เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กมากจนขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยทั่วไป ไม่สามารถกรองละอองพิษได้ จึงสามารถหลุดเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรงก่อโรคระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด หัวใจและมะเร็งในระยะยาว
อาจารย์สนธิ ระบุว่า แหล่งที่มาส่วนใหญ่ของของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ ‘ไอเสีย’ ที่มาจากเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ ที่ใช้กับรถและเครื่องจักร โดยเชื่อว่าเป็นต้นเหตุหลักกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากใน กทม. มียานพาหนะมากถึง 9.7 ล้านคัน และในจำนวนดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ล้านคัน ซึ่งทั้งหมดนี้ เกินพื้นที่ถนนที่รองรับได้ถึง 4.4 เท่า ขณะเดียวกันยังมีการก่อสร้างจำนวนมากทั่วเมือง จนส่งผลต่อระบบจราจรและมีผลต่อการระบายไอเสียมากยิ่งขึ้น
“สังเกตง่ายๆ ตอนช่วงปีใหม่ ฝุ่นลดลงเยอะมาก พอกลับเข้ามาฝุ่นเต็มไปหมด และเมื่อเจอกับการก่อสร้างจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้า อุโมงค์ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จราจรติดขัดและส่งควันเสียมากขึ้น”
บวกรวมกับเหตุผลด้านสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นมา ที่มีสภาพอากาศนิ่ง การฟุ้งกระจายในแนวราบไม่ระบาย มีลมสงบความเร็วลมต่ำ และการฟุ้งกระจายในแนวดิ่งมีน้อย มีละอองน้ำหรือหมอกปกคลุมเหนือพื้นดินจำนวนมาก แต่ที่ระดับความสูงขึ้นไปอากาศกลับมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้มลพิษที่พื้นดิน เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สารเบนซิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น ที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ซึ่งมีความร้อนมากกว่าอากาศโดยรอบจะเคลื่อนที่ลอยขึ้น จากร้อนไปเย็น ในระดับหนึ่งแล้วลอยต่อไปไม่ได้เนื่องจากไปปะทะละอองน้ำและความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่อุณหภูมิสูงกว่าจึงตกลงมาปกคลุมพื้นที่ใกล้เคียงทำให้มีค่ามลพิษเกินมาตรฐานบริเวณริมถนน ซึ่งเปรียบเสมือนเอาฝาชีทึบครอบอาหารร้อนๆ ไว้ ความร้อนก็จะกระจายอยู่ในฝาชีนั่นเอง
ทั้งนี้ ค่า PM 2.5 ขององค์การอนามัยโลก คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม หลายแห่งในกรุงเทพฯ ตรวจวัด PM 2.5 มีค่าสูงถึง 70-80 และบางวันมากถึง 100 ไมโครกรัม ซึ่งมากกว่าระดับปกติถึงสองเท่า
“เราอ้างว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา และคำนึงเนื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เลยกำหนดมาตรฐานเกณฑ์สูงกว่า” สนธิระบุ
สถานการณ์ปัจจุบันเข้าขั้นเลวร้ายและบทบาทเชิงรับของภาครัฐ ที่เป็นไปในลักษณะแจ้งเตือนและรณรงค์นั้นไม่เพียงพอ
“ขอความร่วมมือคุมเข้มรถควันดำ ไม่ให้รถ 10 ล้อเข้ามาวิ่งใน กทม. ขอให้ประชาชนใช้รถสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว หรือแม้แต่คุมเข้มร้านปิ้งย่างให้ใช้เตาลดมลพิษ ประเด็นคือเขาทำมาหากิน ขายลูกชิ้น หมูปิ้ง บาร์บีคิว กล้วยทอด แล้วใครจะให้ความร่วมมือ ขอความร่วมมือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีมาตรการทางกฎหมาย โดยมาพร้อมกับมาตรการจูงใจหรือสนับสนุน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างประเทศอินเดียและจีน ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองเช่นเดียวกันกับไทย โดยมีมาตรการอนุญาตให้รถที่มีหมายเลขทะเบียนที่ลงท้ายด้วยเลขคู่-คี่ สามารถวิ่งบนท้องถนนของกรุงปักกิ่งได้แบบสลับวันกัน เพื่อลดจำนวนมลพิษ
“ด้านหนึ่งกำหนดวันใช้รถส่วนตัว อีกด้านต้องลดราคาระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ ควบคู่ไป จะให้เขาลดการใช้รถส่วนตัวเพียงอย่างเดียวไม่ได้”
นอกจากนั้นควรมีมาตรการสำรวจพื้นที่แหล่งกำเนิดฝุ่น ก่อนขอความร่วมมือจัดการปัญหาในช่วงสภาพอากาศปิด
“สำหรับเมืองจีน การเผาในที่โล่งต่างๆ ถ้าไม่ได้มาตรฐาน จับหมด เขาไม่ได้ห้าม แต่คุณต้องมีระบบกำจัดฝุ่น ซึ่งมาตรการอย่างนี้ ค่อนข้างเข้มข้น แต่ไม่ได้ถาวร หลังจากอากาศเปิด ฝุ่นละอองลดลงมาก็เลิก”
มาตรการเชิงรุกของ กทม. อย่างการฉีดน้ำขึ้นฟ้านั้น อาจารย์สนธิยืนยันว่า 'ไม่ได้ผล'
“ผมเคยไปดูงานวิจัยจากอินเดีย เขาบอกว่า การฉีดน้ำเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต้องใช้เม็ดน้ำขนาด 1-5 ไมครอน ฉีดสูงไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ความเร็ว 100 ลิตรต่อนาที แต่ของ กทม. ฉีดได้แค่ประมาณ 30 เมตร ซึ่งแก้ปัญหาได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ และชั่วคราวเท่านั้น ขนาดอินเดียทำแบบนั้นยังได้ผลเพียงแค่ 20 เปอร์เซนต์”
จากสถานการณ์ปัจจุบัน คำถามคือไทยมีมาตรการทางกฎหมายจัดการหรือไม่
“มี” สนธิตอบชัด ตาม “พระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) ปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี 2560 สามารถกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญได้ดังนี้”
มาตรา 28/1 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุรำคาญเป็นบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ซึ่งกำหนดแล้ว) โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขและประกาศในราชกิจจานุเบกษาการระงับเหตุรำคาญตามและการจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด
ในกรณีที่เหตุรำคาญได้ระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้นโดยไม่ชักช้า”
มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28/1 โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“พูดง่ายๆ กทม. และเจ้าพนักงานสามารถประกาศเขตควบคุมได้ และยกเลิกได้หลังจากปัญหาทุเลาหรือหมดไปแล้ว”
เขาตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดรัฐถึงไม่กล้าประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวและเอาแ��่ใช้วิธีการขอร้องหรือประชาสัมพันธ์เท่านั้น
“แน่นอนประชาชนบางส่วนจะได้รับผลกระทบ แต่คุณก็ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจก่อน พอไม่กล้าใช้กฎหมาย ชาวบ้านก็เห็นเป็นเรื่องไม่เลวร้าย เพราะรัฐไม่ทำอะไร ผมสงสัยมากกว่า ทำไมช่วงนี้หน่วยราชการค่อนข้างเงียบหรือว่าใกล้เลือกตั้ง”
นักวิชาการรายนี้ ย้ำกว่า กฎหมายและแรงจูงใจต้องมาควบคู่กัน รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนก่อน ไม่ใช่ให้ประชาชนเสียสละแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเสมือนเป็นการผลักภาระให้ประชาชนมากกว่าแก้ปัญหา
“บางครั้งรัฐบาลก็บิดเบือน ผิดเพี้ยนไปจากต่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษระบุว่า คุณภาพอากาศสีส้มนั้นเท่ากับเริ่มกระทบกับสุขภาพ แต่แท้จริงมันมีผลแล้ว ไม่ใช่แค่ระวังตัว ต้องป้องกันและมีมาตรการทางกฎหมายออกมา เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานสุขภาพไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเท่าที่ควร รวมถึงไม่มีแผนการบูรณาการอย่างชัดเจน จนนำไปสู่การแอ็กชั่นอย่างรอบด้าน” สนธิระบุและเห็นว่าสุขภาพประชาชนต้องมาก่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
สำหรับมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เขาเห็นว่า ควรเร่งรัดการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน Euro 5 ผลักดันให้ใช้รถโดยสาร NGV/EV/ไฮบริด เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า จัดโซนนิ่งรถยนต์เข้าเมือง ตลอดจนกำหนดกฎหมายห้ามซื้อรถ หากไม่มีที่จอดเป็นหลักแหล่ง
“ทุกวันนี้ประชาชนตื่นตัว ฉลาดมากขึ้น เขารู้ถึงผลกระทบ และเข้าใจว่าทุกคนต้องช่วยกัน แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องช่วยก่อนแล้วประชาชนจะร่วมมือด้วย” ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยกล่าวในที่สุด