ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ 5 ปี รัฐบาล คสช. หนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ของไทยพุ่งขึ้นสูงสุด สร้างความทุกข์และวิกฤตการต่ออนาคตประเทศไทย

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562 ระบุว่า หนี้สินครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินภาคประชาชน ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย

สัดส่วนการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank ที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้กู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการขอสินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการก่อหนี้หลายบัญชีและหลายสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ หนี้สินภาคประชาชนยังมีทั้งหนี้ในระบบ (หนี้สถาบันการเงิน) และหนี้นอกระบบ (หนี้ปล่อยกู้เกินกฎหมายกำหนด เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือ 1.25 บาทต่อเดือน) นอกจากสาเหตุที่กล่าวข้างต้นแล้วยังเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ประชาชนเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ยึดและอายัดทรัพย์สินรวมถึงที่ดินทำกิน และอาจเป็นคนล้มละลาย หนี้สินและความยากจนเป็นทุกข์ของประชาชนจำนวนมาก เป็นปัญหาสังคมที่ขยายตัวและเรื้อรังมานาน

ขณะเดียวกัน "หนี้สาธารณะของประเทศ" ที่เป็นหนี้ซึ่งรัฐบาลก่อขึ้นจาก "การกู้เงินมาใช้จ่าย" เนื่องจากจัดเก็บรายได้จากมาตรการภาษีไม่พอกับนโยบายการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเภทนี้ว่า "งบขาดดุล"

และเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 มติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังขยายเพดานการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 (มติดังกล่าว สามารถกู้ได้เพิ่มจากสัดส่วนเดิมมากถึง ร้อยละ 60 ) ทำให้เพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลเพิ่มจาก 1.5 แสนล้านเป็น 2.4 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท

จากข่าวเว็บฐานเศรษฐกิจ ระบุว่า "การขยายเพดานก่อหนี้ผูกพันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการขยายวงเงินเพื่อรองรับการลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาวันที่ 28 พ.ค. นี้"

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 มีสูงมากถึง จำนวน 6,833,645.93 ล้านบาท 

การกู้เงินของรัฐบาล จะมีกรอบเป็นเงื่อนไขที่กําหนดข้อหนึ่ง คือ หนี้สาธารณะคงค้างไม่เกินร้อยละ 60 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 41.78 ของ GDP กรณี GDP นั้น ปรากฏว่า GDP ของประเทศโตเพิ่มขึ้น จึงขยายฐานการเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวโตของ GDP

ซึ่งการโตของ GDP กับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอาจจะตรงข้ามกัน เพราะ GDP ไม่ใช่รายได้ของประชาชนและรัฐบาลที่แท้จริง แต่เป็น ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ คือ การที่นับรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเท่านั้นไม่ว่าผู้มีรายได้จะสัญชาติใด และ GDP ที่สูงขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับรายได้ของรัฐบาล 

แต่หนี้สาธารณะ เป็นหนี้จริง เมื่อกู้มาแล้วต้องใช้หนี้ พร้อมดอกเบี้ย สิ่งสำคัญคือรัฐกู้แล้วนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไร เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะ "รัฐบาล คสช. กู้เงิน ไม่สามารถตรวจสอบได้"

คำถามหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากเกือบ 7 ล้านล้านบาทนั้น มีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายท่าน เห็นว่า ในสมัยรัฐบาล คสช. นำไปใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนายทุนหรือประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นส่วนมาก จนประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของโลก 

การที่รัฐมีหนี้สาธารณะมากจะส่งผลต่ออนาคตการพัฒนาเพราะต้องเบียดบังงบประมาณที่เป็นงบลงทุนของรัฐบาลไปชำระหนี้คืนและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ในวาระที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ภาคประชาสังคม และ นักวิชาการ มีมาก ในส่วนพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค เป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ถึง 6 พรรค ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งประมาณ 1 ปีเท่านั้น จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลย์รัฐบาลจะแสดงผลงานเพื่อประชาชนได้มากเพียงใด

โดยรัฐบาลใหม่ต้องแถลงนโยบาย และที่สำคัญคือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ ครม. รัฐบาล คสช. ตั้งงบประมาณไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ตั้งเป็นงบขาดดุลถึง 4.5 แสนล้านบาท ที่รัฐต้องกู้เงิน คือ "การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น"

ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณแผนดิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะบางกระทรวง ทบวง กรม หรือเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มทุนที่มีข่าวสนับสนุนพรรครัฐบาลที่มี "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" เท่านั้น และประชาชนต้องการเห็นรูปธรรมการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายความสุขและผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างสมดุลและจับต้องได้ ซึ่งการเมืองไม่ใช่จำกัดเฉพาะเสียงโหวตอยู่ในสภาอีกต่อไปแล้ว แต่ที่มีค่าสูงยิ่งคือการได้มาซึ่งการเมืองที่รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากจะพิสูจน์กันได้ผ่านรายงานและสถิติ ศรัทธาของประชาชนนั้นย่อมสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด