ไม่พบผลการค้นหา
โรงกำจัดขยะในมูซาชิโนะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดบาร์ชั่วคราว ‘โกมิ พิท’ (Gomi Pit) เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสกระบวนการ หวังลดปริมาณการผลิตขยะมูลฝอยในครัวเรือน

บาร์แบบป็อปอัพ ‘โกมิ พิท’ (Gomi Pit) แปลเป็นไทยได้ตรงกับความหมายกับสิ่งที่นักดื่มกำลังเห็นกันอยู่ตรงหน้าคือ ‘หลุมขยะ’ แม้ทั้งชื่อ และสภาพแวดล้อมจะไม่ช่วยให้เจริญอาหาร แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้ริเริ่มไอเดียบาร์เคล้าวิวขยะคิดว่า มันจะเป็นพื้นที่การแสดงศิลปะชั้นยอด และช่วยให้คนพื้นที่คำนึงถึงปริมาณขยะมูลฝอยที่สร้างจากสองมือของตนเองมากยิ่งขึ้น 

บริเวณชั้นบนของโรงกำจัดขยะมูซาชิโนะ เมืองทางทิศตะวันตกของกรุงโตเกียว ผู้คนจำนวนมากกำลังเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหาร และจิบค็อกเทล พร้อมชมวิวจากที่นั่งของพวกเขา ซึ่งถูกคั่นด้วยกระจกใสผืนใหญ่ สามารถมองทะลุเข้าไปยังหลุมที่เต็มไปด้วยขยะ ที่กำลังรอกระบวนการเผาจำนวนมาก 

1.jpg
  • หลุมกำจัดขยะ วิวอันเป็นเอกลักษณ์ของ โกมิ พิท

ตลอดเวลาที่นั่งดื่ม เครนขนาดมหึมาจะคว้านลงไปยังก้นบึ้งของหลุมขยะ และกวาดเอาสิ่งของเหลือใช้จากชีวิตประจำวันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ถุงอีเกียขาดครึ่ง เสี้ยวหนึ่งของโฟม กระดาษที่ขาดวิ่น เนคไท และถุงพลาสติกจำนวนมาก

หลังจากนั้น กรงเล็บของเครนจะเปิดขึ้น แล้วปล่อยขยะลงมาผสมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าขยะหลากหลายชนิดจะเผากันอย่างสม่ำเสมอในเตาเผา


'ขยะ' มรกดกที่ไม่มีใครต้องการ 

ภาพขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ร่วงหล่นลงมาเปรียบเสมือนหิมะที่ไม่พึงประสงค์ที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ ซึ่ง อิซาโอะ โทมิโอกะ (Isao Tomioka) คนในท้องถิ่นที่มาโกมิ พิท พร้อมกับลูกสาววัย 6 ขวบ และ 4 ขวบ ที่กำลังเกาะหน้าต่างเฝ้าดูการทำงานของเครนบอกว่าการได้เห็นขยะกับตาเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก 

โทมิโอกะ วัย 49 ปี บอกว่าเขาพาลูกๆ มาที่นี่เพราะเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของขยะในอนาคต เขาระบุว่ามีขยะบางชนิดที่ไม่สามารถกำจัดด้วยการเผาไหม้ยังกองอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลก และมันเป็นมรดกที่เลวร้ายสำหรับรุ่นต่อไป

3.jpg
  • ลูกสาวของทามิโอกะ กำลังเกาะกระจกเพื่อดูกระบวนการทำงานของเครน

ในย่านมูซาชิโนะได้มีการกำหนดให้ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะแต่ละประเภทให้เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างปกติในประเทศญี่ปุ่น ทว่ามูซาชิโนะยังเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับขยะแต่ละถุง เพราะเจ้าหน้าที่มองว่าวิธีดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนลดการเพิ่มปริมาณขยะของตนเองลงได้ แต่คิดว่าการเห็นพื้นที่สำหรับกำจัดด้วยตาตนเอง จะสร้างผลกระทบได้มากกว่า 

อยานะ เซคิ (Ayana Seki) เจ้าหน้าที่แผนกสิ่งแวดล้อมของโรงกำจัดขยะมูซาชิโนะ บอกว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่รู้เลยว่าขยะที่พวกเขาสร้างต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และมีหลายคนที่ตกใจเมื่อพบว่ามีขยะกองสุมจำนวนมาก ทั้งที่แต่ละครัวเรือนผลิตขยะเพียงหนึ่งหรือสองถุงเท่านั้น 

แม้จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของการแยกขยะด้วยความเคร่งครัด แต่การมาที่บาร์แห่งนี้ทำให้โทมิโอโกะรู้สึกว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เขาเท้าความว่าตัวเองเป็นผู้รักการทำอาหาร และการทำอาหารเป็นหนึ่งในงาอดิเรกที่โปรดปรานมากที่สุด ซึ่งชาวแดนปลาดิบวัย 49 ปี ตัดสินใจว่าจะลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งให้มากที่สุดหลังจากนี้ 


บาร์เปิดบริการชั่วคราว แต่ขยะต้องกำจัดแบบถาวร 

อย่างไรก็ตาม โกมิ พิท เปิดป็อปอัพบาร์ให้บริการเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สถานที่ดั้งเดิมอย่างโรงกำจัดขยะ เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับชุมชนอย่าง เซคิ ย้ำว่าสถานที่แห่งนี้ออกแบบให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมได้สัมผัสการกำจัดขยะอย่างเต็มที่

4.jpg
  • นักท่องเที่ยวสามารถดูกระบวนการทำงานของห้องควบคุมของโรงกำจัดขยะมูซาชิโนะผ่านกระจก

ย้อนกลับไปตอนวางแผนเปิดโรงกำจัดขยะมูซาชิโนะเมื่อปี 2017 พวกเขาต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งในท้องถิ่น ด้วยการทำให้สถานที่กำจัดขยะมีภาพลักษณ์ดี ดังนั้น แผ่นไม้จึงถูกนำมาตกแต่งบริเวณหน้าอาคาร เพื่อปกปิดพื้นผิวดั้งเดิมอย่างคอนกรีต และทำหน้าต่างในระดับสายตา เพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น 

ป้ายของโรงกำจัดขยะแห่งนี้มีทั้งภาษาญี่ปุ่น และอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว นอกจากนั้น ผนังด้านหนึ่งของห้องควบคุมยังทำมากจากกระจก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการกำจัดขยะจากระยะไกล แถมหน้าต่างบานหนึ่งยังมีระบบสัมผัสให้ผู้เยี่ยมชม กดไอคอนแสดงข้อมูลต่างๆ รวมถึงอุณภูมิของเตาเผา และปริมาณขยะที่ถูกเผาในวันนั้นๆ อีกด้วย

On Being
198Article
0Video
0Blog