ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานตัวแทนของรัฐบาลจีนในฮ่องกงระบุว่า การจัดการเลือกตั้งขั้นต้นของฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงถือที่เป็น “การยั่วยุอย่างร้ายแรง” พร้อมเตือนว่าอาจละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้

ความเห็นดังกล่าวมาจากสำนักงานประสานงานซึ่งถือเป็นตัวเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนในฮ่องกง ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่พรรคฝ่ายค้านและแกนนำจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยแถลงการณ์ของสำนักงานประสานงานระบุว่า การจัดเลือกตั้งขั้นต้นดังกล่าวที่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อควบคุมและทำให้สภานิติบัญญัติเป็นอัมพาตขัดต่อมาตรา 22 ในกฎหมายความมั่นคง ซึ่งกฎหมายมาตรานี้พุ่งเป้าจัดการกับการโค่นล้มอำนาจรัฐ กำหนดให้การแทรกแซงและขัดขวางรัฐบาลกลางและรัฐบาลฮ่องกง หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

แถลงการณ์ของสำนักงานประสานงานยังพุ่งเป้าโจมตีไปที่ ‘เบนนี ไต’ อาจารย์ด้านกฎหมายที่เคยถูกจำคุกจากการร่วมประท้วงเมื่อปี 2557 และเป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเลือกตั้งขั้นต้นครั้งนี้ โดยระบุว่าเป้าหมายของกลุ่มของไตและฝ่ายค้านคือการยึดอำนาจเพื่อปกครองฮ่องกง 

สอดคล้องกับจุดยืนของ ‘แคร์รี หล่ำ’ ผู้บริหารสูงสุดเกาะฮ่องกงที่เตือนว่าการเลือกตั้งขั้นต้นที่จัดขึ้นโดยฝ่ายค้านเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกง โดยชี้ว่าการเลือกตั้งดังกล่าวมาได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองฮ่องกง รัฐบาลจะดำเนินการหากมีหลักฐานเพียงพอหลังการสอบสวน

การเลือกตั้งขั้นต้นอย่างไม่เป็นทางการที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีเป้าหมายเพื่อสรรหาตัวแทนฝั่งประชาธิปไตยลงชิงชัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย. นี้ โดยนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยใช้การระดมเงินจากประชาชนเพื่อเป็นทุนในการจัดเลือกตั้ง รายงานระบุว่ามีชาวฮ่องกงออกมาลงคะแนนมากถึง 600,000 คน เกินกว่าที่ผู้จัดตั้งเป้าไว้ที่ 170,000 คน ซึ่งจำนวนคนที่ออกมาลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นคิดเป็นราวๆ ร้อยละ 27 ของคนที่มาออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติครั้งล่าสุด

ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่าการเลือกตั้งขั้นต้นเป็นการโหวตเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่พุ่งเป้าจัดการกับสิ่งที่รัฐบาลจีนนิยามว่าเป็นการโค่นล้ม บ่อนทำลาย ก่อการร้าย และสมรู้ร่วมคบคิดกับต่างชาติ โดยกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งฝ่ายวิจารณ์กังวลว่ากฎหมายนี้จะทำลายเสรีภาพของฮ่องกงที่ได้รับการรับรองเมื่อสหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 2540 รวมถึงยังถูกประณามจากชาติตะวันตก โดยสหภาพยุโรประบุว่ากำลังพิจารณามาตรการลงโทษรัฐบาลจีนต่อการออกกฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกง ซึ่งรวมถึงอาจทบทวนสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่รัฐบาลสหภาพยุโรปทำร่วมกับฮ่องกงและเสนอให้วีซ่ากับพลเมืองฮ่องกงมากขึ้น อย่างไรก็ตามฝ่ายสนับสนุนมองว่ากฎหมายนี้จะนำเสถียรภาพมาสู่ฮ่องกงหลังเผชิญการประท้วงรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา  

อ้างอิง The Straits Times / CNA / chinadaily / CNN