วันที่ 29 มี.ค. 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อรักษาความปลอดภัย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากภัยทางการเงิน ผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า พรก. นี้ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน สามารถประสานติดตามทรัพย์ของผู้เสียหายได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ปัญหาภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีนัยยะที่สำคัญ โดย พรก. ได้วางมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การยับยั้งการทำธุรกรรมการเงิน และมีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อยกระดับมาตรฐาน ทั้งในด้านการป้องกัน การตรวจจับ การรับมือและการตอบสนอง และให้เป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น โดย ธปท. ได้ติดตามสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวที่ได้ออกไปอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้เชื่อมโยงข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ตระหนักดีว่า ภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการจัดการและแก้ปัญหาภัยการเงินในปัจจุบันยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม รัฐบาลพร้อมจะประเมินประสิทธิผลของการดำเนินการ ทบทวนปรับปรุงมาตรการเป็นระยะ เพื่อลดช่องทางของมิจฉาชีพ และช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยการเงินอย่างทันท่วงที” อนุชากล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถศึกษา พรก. นี้ได้อย่างละเอียด หากตกเป็นเหยื่อจะได้รีบดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยหากมีปัญหา หรือเป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งได้ที่หมายเลขสายด่วน 1441 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ได้ทันที