ปริ่มน้ำจนมีสภาวะที่อาจโหวตแพ้กลางสภาฯ ได้ทุกเมื่อ เพราะปี 2562 ฝ่ายค้าน 7 พรรคเป็นฝ่ายค้านมี 246 เสียง ซึ่งเป็นเสียงสูสีกับปีกรัฐบาล
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเคยถึงขั้นแพ้โหวตกลางรัฐสภามาแล้วในการพิจารณาในการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งฝ่ายค้านสามารถเอาชนะรัฐบาลไปด้วยมติเสียงข้างมาก 234 ต่อ 230 เสียง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ทำให้รัฐบาลต้องแก้เกมกลางสภาฯ ด้วยการงัดข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อขอนับคะแนนใหม่
เมื่อย้อนไปก่อนหน้านั้น เสียงของรัฐบาลก็ยังแพ้โหวตกลางสภาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2562 ข้อ 13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (1) สภาสิ้นอายุ หรือ สภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม 234 เสียง เห็นด้วยกับการตัดถ้อยคำดังกล่าวออกตามความเห็นกมธ.เสียงข้างน้อย ขณะที่เสียงที่สนับสนุนให้ยืนตาม กมธ.เสียงข้างมาก มีเพียง 223 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
และก่อนหน้านั้น รัฐบาลก็แพ้โหวตกลางสภาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 ระหว่างลงมติพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 9 ว่าด้วยการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ โดยมีมติเสียงข้างมาก 205 เสียง ต่อ 204 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับของกมธ. กำหนดให้ประธานสภาฯทำหน้าที่ต้องเป็นกลาง และงดออกเสียง 2 เสียง
นี่เป็นเพียงการลงมติเพื่อประลองกำลังในญัตติและข้อบังคับฯ เท่านั้น
หากนับรวมกับการแพ้โหวตระหว่างนับองค์ประชุมในสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลเคยแพ้กติกาการยกมือกดปุ่มแสดงตนกลางประชุมฯ จนสภาฯ ล่มมาแล้ว ถึง 2 ครั้ง 2 วันติดต่อกัน
ระหว่างพิจารณาญัตติขอให้นับคะแนนใหม่ในการลงมติตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2562 สมาชิกแสดงตนเพียง 240 เสียง เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 250 เสียงจาก ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 499 คน
และสภาฯ ล่มครั้งแรกก่อนหน้านั้นคือ วันที่ 27 พ.ย. 2562 ขณะพิจารณาญัตติขอให้นับคะแนนใหม่ในการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ได้เพราะมีสมาชิกแสดงตนเพียง 92 คนเท่านั้นจากส.ส.เท่าที่มีอยู่ 499 คน เนื่องจากฝ่ายค้านประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์
เปิดศักราชรับปีหนูดุ 2563 ฝ่ายค้านได้ฤกษ์ 31 ม.ค. 2563 ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมพ่วงเชือดชำแหละเปิดแผล 5 รัฐมนตรีกลางสภาฯ
ฝ่ายค้าน 7 พรรค นาทีนี้เหลือเพียง 6 พรรคเท่านั้น
เนื่องด้วย พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง ได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการถึง 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แจ้งมติขอถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังจากงัดมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 ขึ้นมาประกาศยกทีมพ้นพรรคฝ่ายค้านก่อนที่ 6 พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพียง 1 วัน
ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยในห้องผู้นำฝ่ายค้านฯ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ม.ค. 2563 ภายในรัฐสภาเกียกกาย 'สุภดิช อากาศฤกษ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ได้นำทีม ส.ส.ของพรรคเข้ายื่นหนังสือถึงมือ 'สมพงษ์' ขอโบกมือลาฝ่ายค้าน โดยให้เหตุผลตามหนังสือว่าต้องการทำงานเป็นอิสระตามแนวทางของพรรค
หากย้อนไปก่อนที่ 6 พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
พรรคฝ่ายค้านก็ไม่มั่นใจในท่าทีของพรรคเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง ยกเว้น 'มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์' กดปุ่มลงมติเห็นด้วยกับการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 นี่คือความไม่ไว้วางใจในหมู่ฝ่ายค้านด้วยกันเอง
ว่ากันว่าวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทยถึงขั้นถามตรงไปยังตัวแทนจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วยซ้ำว่า จะยังอยู่กับพรรคฝ่ายค้านหรือไม่
ทำให้ชนวนดังกล่าวนำมาสู่การลงมติของพรรคเศรษฐกิจใหม่ถอนตัวจากพรรคฝ่ายค้านในทันทีช่วงนาทีสุดท้าย
เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติที่แกนนำพรรคยอมรับกับพรรคเพื่อไทยว่า ไม่สามารถควบคุม 'อนุมัติ ซูสารอ' ส.ส.ปัตตานีได้ ทำให้เสียงของพรรคประชาชาติเหลือเพียง 6 เสียง
ขณะที่เสียงของพรรคเพื่อไทย 135 เสียง ก็ยังไม่สามารถควบคุมเสียงของ 'พรพิมล ธรรมสาร' ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน เพราะ 'พรพิมล' ก็เคยโหวตสวนมติพรรคฝ่ายค้านในการลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาฯ ปี 2563
ยิ่งบวกลบคำนวณ เลขคณิตศาสตร์เสียงของสองขั้วในสภาผู้แทนราษฎร
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าก่อนที่จะมีเปิดประชุมเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือน ก.พ.นี้
รัฐบาลมีเสียงตุนในมือแล้วเต็มพิกัดถึง 264 เสียง จาก 20 พรรค (รวมพรรคเศรษฐกิจใหม่) หรือเกินเสียงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมมาแล้วถึง 15 เสียง จากเดิมมีเสียงเพียง 258 เสียง
ส่วนฝ่ายค้าน 6 พรรค เหลือเสียงในสภาจากเดิม 240 เสียง ลดเหลือ 234 เสียง
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 151 กำหนดให้ ส.ส.จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
เมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้น ส่วนมติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือมติไว้วางใจต้องมากกว่า 249 เสียงเท่านั้น
ส่วนวันเปิดประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ฝ่ายค้านขอเวลา 3 วัน หมายมั่นจองปฏิทินไว้วันที่ 19-20-21 ก.พ. 2563 แต่วิปรัฐบาลต้องการให้เปิดอภิปรายในสามวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา 28 ก.พ. 2563
เมื่อเสียงของรัฐบาลมีเต็มพิกัดสูงสุดที่ 264 เสียง หากจะมีงูเห่าเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะมากกว่า 1-2 เสียง และหากประธานที่ประชุม 3 เสียง งดออกเสียงแล้ว เสียงของรัฐบาลก็ยังเพียงพอที่จะโหวตไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีอีก 6 คน รอดพ้นข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านเปิดแผลไว้
แม้เสียงของฝ่ายค้านจะพ่ายแพ้ในสภาฯ แต่เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ยังเป็นเวทีที่ต้องเปิดแผลของรัฐบาลให้ได้มากที่สุดด้วยสถานการณ์ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกรัฐบาลกำลังถูกรุมเร้าอย่างหนัก
ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงในสภาฯ ที่พลิกขั้วเกิดขึ้นนั้น ย่อมมาจากอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเปิดทางให้ ส.ส.ในสภาฯ สามารถพลิกผันเป็นงูเห่าได้ทุกเมื่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง