HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อ
ในผู้หญิงจะพบโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก ในผู้ชายจะพบโรคมะเร็งองคชาติ มะเร็งทวารหนัก ส่วนโรคหูดหงอนไก่สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก อาจนำไปสู่การติดเชื้อบริเวณช่องปากและลำคอ จนเกิดเป็นโรคมะเร็งช่องปากได้
เชื้อไวรัส HPV แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
อย่างไรก็ตามการติดเชื้อ HPVจะอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่หากร่างกายมีภูมิต้านทานมากพอ เชื้อจะหายไปเองภายใน 12 เดือน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการติดเชื้อแบบฝังแน่นเป็นเวลานานจนอาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งในสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นอาจใช้ระยะเวลาในการก่อตัวโรคนานถึง 10-15 ปี โดยไม่มีอาการแสดงออกที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม กรมอนามัยเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ถึงปีละประมาณ 8,200 คน และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยประมาณ 4,500 รายต่อปี
นั่นคือ มีผู้หญิงไทยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกวันละ 8-10 ราย เนื่องจากการติดเชื้อ HPV เป็นไปได้ง่าย โดยเฉพาะจากเพศสัมพันธ์ ทำให้ผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนจะมีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตมากถึง 80-90% แค่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV แค่ครั้งเดียวเท่านั้น และยังสามารถติดเชื้อซ้ำๆ ได้ตลอดแม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เคยออกมาเปิดเผยว่า สามารถพบเชื้อ HPV ในสิ่งแวดล้อมได้ เช่น กลอนประตู ปุ่มกดหรือที่รองนั่งชักโครก ก๊อกน้ำล้างมือสาธารณะ เป็นต้น สาเหตุที่พบเชื้อไวรัสเกิดจากเวลาปัสสาวะแล้วมีการจับอวัยวะเพศของตนเองทำให้มีเชื้อติดอยู่ที่มือ เมื่อมาจับสิ่งของต่างๆ ต่อทำให้ในห้องน้ำมีเชื้อไวรัสดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสน้อยที่เชื้อจะเข้าสู่อวัยวะเพศหรือทวารหนักได้ พญ.เนตร บุญคุ้ม สูตินรีแพทย์จากศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท ได้อธิบายไว้ว่า การติดเชื้อ HPV นั้นต้องมีการสัมผัสเสียดสี หรือมีเพศสัมพันธ์ การที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการนั่งบนชักโครกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าลึกถึงช่องคลอดได้ เพียงแต่ยังมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเสี่ยงเป็นโรคหูดหรือโรคผิวหนังอื่นๆ
เราสามารถป้องกันด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ทำความสะอาดชักโครกด้วยทิชชู่หรือผ้าเปียกก่อนใช้ เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจจะติดมาแบบไม่รู้ตัว
ในปัจจุบันการติดเชื้อ HPV ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาให้หายขาดทันที มีเพียงการปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่อาจไปรับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกาย หรือหากมีเชื้อในร่างกายแล้วก็จะลดโอกาสที่เซลล์ที่ติดเชื้อจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV นั้นเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ โดยมีวิธีการป้องกัน ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน, การใช้ถุงยางอนามัย แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด เนื่องจากในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ยังมีโอกาสสัมผัสผิวหนังบริเวณอื่นๆ ที่อาจมีเชื้อและถุงยางอนามัยอาจครอบคลุมไม่ถึง, การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศสำหรับผู้ชาย, การตรวจคัดกรองหาเชื้อ HPV, การไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธี Pap Smear หรือ Thin Prep สำหรับผู้ชายก็สามารถไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนักด้วยวิธี Thin prep ได้เช่นกัน
และสุดท้ายคือ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
วัคซีน HPV จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ HPV โดยองค์กรวิจัยด้านโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักรระบุว่า วัคซีน HPV มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งจากเชื้อ HPV ได้ถึงเกือบ 90% การฉีดวัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาประมาณ 3 วัน ส่วนอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนพบประมาณ 10% ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง
ปัจจุบันประเทศไทย มีวัคซีน 3 ชนิด คือ
ทั้งนี้ วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงหากฉีด ในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่เนื่องจากราคาวัคซีน HPV ค่อนข้างสูงประชาชนทั่วไปจึงเข้าไม่ถึง
ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันดำเนินโครงการให้วัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของการบริการการป้องกันและคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งนั้น ระบบบัตรทองมีสิทธิประโยชน์ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงไทยทุกสิทธิอายุ 30-59 ปี และอายุ 15-29 ปีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย โดยมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้งทุก 5 ปี
ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัวโครงการมอบชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองที่บ้านให้กับหญิงไทยอายุ 30-60 ปี จังหวัดละ 1,000 ชุด รวม 80,000 ชุด และสามารถส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ตรวจทางการแพทย์ โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคทั้ง 7 แห่งของกรมการแพทย์
จะเห็นได้ว่าการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน HPV ฟรียังจำกัดมาก ขณะที่การตรวจคัดกรองก็ไม่ครอบคลุมเพียงพอ เป็นเรื่องน่าเสียดายเนื่องจากมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตผู้หญิงมากมายทั้งที่สามารถ ‘ป้องกันได้’
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า มะเร็งปากมดลูก 80-90% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และเดนมาร์ก จะมีระบบการตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย มีอัตราการครอบคลุมสูง รวมไปถึงมีการประกาศให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV เป็นวัคซีนที่กลุ่มเป้าหมายทุกคนต้องได้รับการ ฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยได้กล่าวถึงการฉีดวัคซีน HPV ของประเทศไทยในตอนประกาศนโยบายพรรคเพื่อไทยไว้ว่า
“หากรัฐฉีดฟรีจริง ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงยังโฆษณาวัคซีนตัวนี้ได้ กลับกันทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่โฆษณาวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน นั่นเพราะวัคซีนเหล่านี้รัฐฉีดฟรี จึงไม่มีใครไปฉีดแบบเสียเงินหรอก”
พรรคเพื่อไทยได้มีนโยบายฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับเด็กหญิงอายุ 9-11 ปีทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสำหรับผู้หญิงวัยอื่นๆ จะมีการตรวจแบบหว่านเพื่อหาไวรัส HPV หากพบว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันฟรีเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีพรรคสามัญชนที่มีนโยบายเพิ่มวัคซีน HPV ในชุดสิทธิประโยชน์ของทุกสิทธิรักษา
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้พรรคอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกลจะไม่ได้มีนโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากก็มีนโยบายนี้อยู่ แม้ตอนนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าพรรคใดจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านโยบายฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรีหรือไม่ แต่ไม่ว่าใครหรือพรรคใดจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็ควรที่จะสานต่อและผลักดันนโยบายนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะเป็นช่วยรักษาชีวิตคนไทยจำนวนมาก และท้ายที่สุดจะประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งจาก HPV
นอกจากนี้ควรทำงานเชิงรุกด้วยการฉีดวัคซีน HPV โดยให้ผู้ชายอายุ 9-26 ปี หรืออาจยืดได้ถึง 45 ปี ตามคำแนะนำของแพทย์ เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน
เพราะเพศชายเองก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งจากการติดเชื้อ HPV และยังสามารถเป็นพาหะนำโรคไปสู่คู่นอนของตนได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่าผู้ชายก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV ได้อย่างปลอดภัย ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีการฉีดวัคซีนฟรี กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก็ครอบคลุมถึงผู้ชายด้วยเช่นกัน ส่วนในประเทศไทย เมื่อปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับรองให้เพศชายอายุ 9-26 ปี ฉีดวัคซีน HPV ได้ แต่จะเห็นได้ว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ในเพศชายนั้นยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย ผู้ชายหลายคนยังคิดว่าการติดเชื้อ HPV เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในผู้หญิง ผู้ชายส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และขาดความตระหนักในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขควรทำควบคู่กันไปด้วยคือการกระจาย ข้อมูล และให้ความรู้เรื่อง HPV และการป้องกันการติดเชื้อแก่ประชาชน
อ้างอิง :
https://www.chulabhornhospital.com/Detail/95/เอชพีวีไม่รู้ไม่ได้แล้ว
https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08312020-1159
https://www.sikarin.com/health/ไวรัส-hpv-ผู้ชายก็มีความเส#:~:text=ไวรัส%20HPV%20
https://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=163
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cervical-cancer
https://voicetv.co.th/read/a9LvQMOID
https://mgronline.com/politics/detail/9660000020922
พนิดา จันทโสภีพันธ์ (2554, กรกฎาคม). ความรู้และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และมะเร็ง ปากมดลูกของนักศึกษาหญิง. วราสารสภาการพยาบาล. 26(3). 48-63.
โชติระวี อินจำปา (2563, กรกฎาคม). การป้องกันการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย. วารสารพยาบาลสภา- กาชาดไทย. 13(2). 74-85.
Rosa Catarino (2015, December). Cervical cancer screening in developing countries at a crossroad. World Journal of Clinical Oncology. 6(6). 281-290.
Jannah Wigle (2013, June). HPV vaccine implementation in low and middle-income countries. ELSEVIER. 3811-3817.
เรียบเรียงโดย พรกฤษณะ ประชุมวรรณ์