ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ชี้ดิจิทัลส่งผลกระทบเกินกว่าที่ผู้ออกแบบต้องการ ด้าน 'พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์' ชี้ คนไทยใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองและต่อรองกับอำนาจรัฐได้ ส่วนนักวิชาการนิเทศศาสตร์ยืนยัน อินเทอร์เน็ตส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์และผลลัพธ์ทางสังคม

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. จัดเสวนา "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย"

ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแง่นิเทศศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอง 3 มิติคือ เทคโนโลยี, การใช้ประโยชน์และนโยบาย ซึ่งอธิบายเรื่องนี้ผ่านการศึกษาอินเตอร์เน็ต โดยในทางนิเทศน์ศาสตร์ มองทิจิทัลในแง่ความเป็นสื่อ ที่ส่งผลต่อสังคมด้านต่างๆนอกเหนือจากการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารเท่านั้นรวมถึงการพิจารณารูปแบบการทำงานของสื่อและในแง่ที่ดิจิทัลในฐานะสื่อนั้นส่งเสริมอำนาจตลอดจนการทำให้เกิดขึ้นและให้อำนาจดำรงอยู่ในสังคมอย่างไร สำหรับกระบวนทัศน์ของนิเทศน์ ในแง่การศึกษาสื่อกับสังคม

มี 3 อย่างคือ 1.มองสื่อภายใต้แนวคิดโครงสร้างหน้าที่นิยม หรือการให้ความหมายว่าสื่อมีหน้าที่และบทบาทในการธำรงไว้ซึ่งโครงสร้างสังคม 2. มองสื่อว่าอยู่ในโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงตามประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะตามพลังการผลิตของสังคม ไม่ได้มุ่งหมายบทบาทหน้าที่ของสื่อในการธำรงซึ่งความเป็นสังคมหนึ่งๆไว้ 3. มองสื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมและทางอำนาจ ที่เป็นช่องทางสื่อสารของคนตัวเล็กตัวน้อยและใช้พื้นที่สื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้

อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตที่รวมเอาความหลากหลายของเทคโนโลยีไว้ด้วยกันทั้งโทรศัพท์, การแพร่ภาพ, การกระจายเสียง, การขนส่งและกระจายสินค้า เหมือนเปิดโลกใหม่ของการใช้ชีวิตให้ผู้ใช้ ที่ไม่ใช่แค่ความเป็นเครือข่ายเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ของคนในสังคมด้วย ซึ่งคุณลักษณะทางเทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต จะมีความสำคัญต่อผลลัพธ์ทางสังคม จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ออกแบบเทคโนโลยี เพียงต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น โดยยกวัตถุประสงค์ที่นักออกแบบเทคโนโลยีต้องการจากคอมพิวเตอร์ในเบื้องต้น คือใช้เพื่อการจัดการข้อมูลให้แม่นยำ พัฒนาระบบป้องกันข้อมูลไม่ให้รั่วไหล หรือประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อคนในสังคมในหลายมิติ รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ อย่าง e-commerce ทำให้ควบคุมยาก ซึ่งผลกระทบด้านลบจากเทคโนโลยี ไม่ใช่เจตนาของผู้ออกแบบ อย่างการสร้างเฟกนิวส์ หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อเป้าประสงค์บางอย่างที่สร้างผลกระทบต่อสังคม อยู่นอกเหนือความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิตร์ทัศน์ มองว่า นักออกแบบเทคโนโลยี จำเป็นต้องรับฟังสังคมมากขึ้น เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากที่มีการทดสอบหรือควบคุมในชั้นการออกแบบหรือพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อมีผลกระทบด้านลบจากเทคโนโลยีที่ออกแบบมา ก็พยายามออกแบบสิ่งใหม่เพื่อแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนภาคสังคม ก็ต้องเข้าใจความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่นักออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลกระทบ เพียงแต่ออกเเบเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานเท่านั้น

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการศึกษาดิจิทัล ที่ครอบคลุมถึงธรรมชาติหรือตัวตนใหม่ของผู้ใช้และสังคมด้วย ซึ่งการยืนยันตัวตนของบุคคลในโลกดิจิทัล ต้องอ้างอิงทั้งเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมและนิติกรรม เป็นการศึกษาสังคมดิจิทัล ในฐานะที่ครอบคลุมชีวิตคนในสังคมและการดำรงอยู่และดำเนินไปของสังคม และในทางรัฐศาสตร์ หากมองดิจิทัลในฐานะการสื่อสารและสื่อ และในเเง่ Digital Politics นั้น จะไม่ใช่ตัวส่งผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองด้วย ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัล ก็สะท้อนหรือส่งผลและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะการเข้าถึงของคนที่มีสถานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ ระบุถึงการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในประเทศไทยจากปี 2534 มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ถึง 100 คน ปี 2542 มีมากกว่า 8 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 47.4 ล้านคน เฉพาะผู้ใช้งานเฟซบุ๊กซึ่งเป็นโซเชียลมีเดีย ที่ใช้มากที่สุดมี 51 ล้านคน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 22 ล้านรหัสผู้ใช้งาน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18 -​ 34 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ ยังนำเสนอผลการศึกษาการใช้สื่อโซเชียลในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมาของประชาชนในกรุงเทพฯ ที่พบการใช้ประโยชน์คือ ใช้คู่กับสื่อทั่วไปและการลงพื้นที่ในแบบเดิม ซึ่งโซเชียลมีเดียต้นทุนต่ำกว่า และเป็นยุทธศาสตร์หาเสียงที่เหมาะสมกับชนชั้นกลาง สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมาย โดยการซื้อโฆษณา ส่งข้อมูลเข้าถึงผู้ติดตามได้ทันท่วงทีและถ่ายทอดรายการของผู้สมัครผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการติดแฮชแท็กไว้หลังข้อความที่ต้องการรณรงค์และสื่อสาร มีผลต่อการเผยแพร่ข้อความ 

ขณะที่พบรูปแบบการต่อต้านทางการเมืองในสื่อออนไลน์ คือ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นก้ำกึ่งและมองในลักษณะวัฒนธรรมเก่า คือ ความเป็นเด็ก-ผู้ใหญ่ รวมถึงข่าวปลอม ทั้งที่ไม่มีฐานความจริงและข่าวปลอมที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และการวิจารณ์ในขบวนการฝ่ายก้าวหน้าด้วยกัน หรือ "แซะ" กันเอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยสื่อต่อรองอำนาจรัฐได้ ท่ามกลางการเซ็นเซอร์จำนวนมาก สะท้อนว่า สื่อโซเชียลมีเดีย เปิดพื้นที่ให้คนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐได้ แม้ยังไม่ถึงขั้นทำให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่หรือเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองขนาดใหญ่ได้ก็ตาม