รัฐบาลออสเตรเลียจะใช้งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 4.37 แสนล้านบาท) เพื่อดำเนินการตามรายงานฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ จากเอกสารผลการศึกษากว่า 110 หน้าระบุว่า นโยบายจัดซื้อขีปนาวุธครั้งใหญ่นี้ เป็นการยกเครื่องการป้องกันประเทศของออสเตรเลียครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
รายงานการทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหม (DSR) ของออสเตรเลีย มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น จากท่าทีของจีนที่มีต่อไต้หวัน ซึ่งจีนให้คำมั่นหลายครั้งว่า พวกเขาพร้อมจะใช้กำลังหากจำเป็นในการยึดไต้หวันมาเป็นของตน นอกจากนี้ กองทัพเรือจีนยังได้ตั้งฐานทัพของตัวเองในทะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าพื้นที่บางส่วนเป็นดินแดนของตน ซึ่งการอ้างดังกล่าวของจีนนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
“การเสริมสร้างกำลังทหารของจีนในขณะนี้ใหญ่ที่สุดและทะเยอทะยานที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศใดๆ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเสริมสร้างนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีความโปร่งใส หรือการรับรองต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ถึงเจตนาทางยุทธศาสตร์ของจีน” รายงาน DSR ระบุ
แอนโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า รายงานการทบทวนจะ "กำหนดอนาคต แทนที่จะรอให้อนาคตมากำหนดรูปร่างเรา" และคำแนะนำจะทำให้ออสเตรเลีย "พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เตรียมพร้อมมากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น" จากภัยคุกคามของจีน
ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย เสนอแนะให้กองทัพออสเตรเลียเปลี่ยนจุดเน้นจากชุดเกราะภาคพื้นดินเป็น "ความสามารถในการโจมตีระยะไกล ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สร้างขึ้นในออสเตรเลีย" พร้อมระบุกับผู้สื่อข่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีกองกำลังป้องกันที่มีขีดความสามารถในการ ‘ฉายภาพของผลกระทบ’”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียยังกล่าวอีกว่า การได้มาซึ่ง "ขีปนาวุธโจมตีแม่นยำ" ที่มีพิสัยยิงได้ไกลกว่า 500 กิโลเมตร จะทำให้กองทัพออสเตรเลียมี "อำนาจการยิงและความคล่องตัวที่จำเป็นในอนาคต"
ทั้งนี้ มีรายงานจากกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (ASPI) ในปี 2565 ได้เตือนถึง "สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด" สำหรับกองทัพออสเตรเลีย หากจีนเข้าควบคุมดินแดนในภูมิภาคใกล้กัน ระหว่างสงครามที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน และท่าทีการป้องกันแบบใหม่ของออสเตรเลีย มีเป้าหมายเพื่อจำกัด "ศัตรูมหาอำนาจอย่างจีน... ให้ห่างไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" มัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์ของสถาบัน ASPI กล่าว
"สิ่งที่เรากำลังพยายามทำ คือการขัดขวางจีนจากการใช้กำลังเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบาย รวมถึงไต้หวันหรือในทะเลจีนใต้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการป้องปราม แต่แน่นอนว่าการป้องปรามอาจล้มเหลว ดังที่เราเห็นกับยูเครน ดังนั้นคุณต้องพร้อมที่จะตอบโต้ สิ่งที่เราลงทุนไปจะขยายขอบเขตการสู้รบของเราอย่างมาก" เดวิสกล่าวแต่ระบุเสริมว่า แม้ว่าการออกรายงานการทบทวนของทางการออสเตรเลียจะเป็น "ขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้อง" แต่ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์
"เรากำลังเดินไปตามเส้นทางของกองกำลังที่ได้รับการมุ่งเน้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อการฉายภาพผลกระทบ ที่เหมาะกับภัยคุกคามประเภทต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญในทศวรรษนี้และต่อๆ ไป มากกว่าที่จะที่พยายามทำทุกอย่าง แต่ผมคิดว่าต้องทำมากกว่านี้ เราจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นในการป้องกัน... และเราจำเป็นต้องลงทุนในการนำ (กองกำลัง) เข้าสู่สนามอย่างรวดเร็วมากขึ้น" เดวิสระบุ
การทบทวนเชิงกลยุทธ์แนะนำให้ออสเตรเลียมีการเสริมสร้างการป้องกันทางตอนเหนือของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการของกองทัพออสเตรเลียจากฐานทางตอนเหนือ และออสเตรเลียจะเร่งดำเนินการตามแผนเพื่อให้ได้มา ซึ่งระบบโจมตีขับเคลื่อนอย่าง High Mobility Artillery Rocket (HIMARS) ที่ใช้บนภาคพื้นดิน ซึ่งกองทัพยูเครนใช้ได้อย่างเป็นผลอย่างมากในการขัดขวางการรุกคืบของรัสเซีย
เพื่อสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญใหม่ของออสเตรเลียตามการทบทวนแผนดังกล่าว โครงการจำนวนมากรวมถึงแผนสำหรับการจัดซื้อปืนใหญ่อัตตาจร และยานเกราะกระสุนใหม่สำหรับกองทัพจะถูกระงับ โดยมาร์เลสกล่าวว่า การทบทวนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษา "ความสามารถในการต่อเรืออย่างต่อเนื่องในประเทศนี้" นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำให้จัดหาขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกลสำหรับเครื่องบินรบ แต่กล่าวเตือนว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน B-21 Raider รุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ในขณะนี้ "ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม" แก่ออสเตรเลีย
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติการขายขีปนาวุธร่อน 220 ลูกให้กับออสเตรเลียในข้อตกลงมูลค่า 895 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ ขีปนาวุธที่ไม่ใช่หัวรบนิวเคลียร์จะถูกใช้โดยเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย ที่ออสเตรเลียจะจัดหาจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการป้องกัน Aukus ที่ตกลงร่วมกันโดยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ที่มา: