ไจก้า (JICA) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เผยแพร่มังงะ (การ์ตูน) ในเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานไจก้าในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับ 'วันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล' โดยมังงะดังกล่าวมีชื่อภาษาไทยว่า 'แสงดาวที่ปลายฟ้า'
เนื้อหาในมังงะ นำมาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและความร่วมมือทางวิชาการของ JICA ในโครงการพัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แต่มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักรู้ และหาทางช่วยป้องกันการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาร่วมในภูมิภาคนี้
ส่วนข้อความในเพจ JICA ประเทศไทย ระบุด้วยว่า การค้ามนุษย์เป็นธุรกิจมืดขนาดใหญ่ มีหลายรูปแบบซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด หลายๆ คนพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กลับถูกล่อลวง แสวงประโยชน์โดยมิชอบ JICA จึงจัดทำมังงะเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จากคำบอกเล่าของผู้เสียหาย เพื่อนำเสนอเรื่องราวด้านของธุรกิจมืดให้ได้รับรู้กัน
"ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย การค้ามนุษย์ก็ยังวนเวียนอยู่รอบตัวเราไม่หมดสิ้น มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ #ต่อต้านการค้ามนุษย์ และเป็น #กำลังใจ ให้ผู้เสียหายกลับมาใช้ชีวิตใหม่ในสังคมได้อีกครั้งกันเถอะ" ข้อความในเพจ JICA ระบุ
ขณะที่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานประจำปี 2020 ว่าด้วยสถานการณ์การค้ามนุษย์ในแต่ละประเทศทั่วโลก (TIP Report) พบว่าไทยยังติดกลุ่ม Tier 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ยังมีปัญหาค้ามนุษย์ แต่พยายามป้องกันและบังคับใช้นโยบายเพื่อปราบปรามและยุติการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในระดับหนึ่ง
รายงาน TIP ของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้ามนุษย์ในไทยมีหลายประเภท ทั้งการค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ ขณะที่มังงะ 'แสงดาวที่ปลายฟ้า' ของ JICA ระบุว่า 'การค้าอวัยวะ' เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
ศิลปินผู้วาดมังงะ 'แสงดาวที่ปลายฟ้า' คือ โอซากิ อิระ ผู้มีผลงานชื่อว่า Shinya no Dame Koi Zukan ที่โด่งดังในญี่ปุ่น และถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางโทรทัศนเมื่อปี 2561 กล่าวไว้ด้วยว่า ตนเองคาดหวังว่ามังงะเรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความโกรธ หรือความเศร้า เพราะ "อยากให้ผู้คนทั่วโลกไม่เพิกเฉย และได้รับรู้ว่ายังมีมนุษย์เช่นเดียวกับเราถูกปฏิบัติราวกับทาสอยู่"
ส่วนข้อมูลเชิงสถิติที่ปรากฏในมังงะเรื่องนี้ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียหายราว 100,000 คน ถูกล่อลวงให้กลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์รูปแบบต่างๆ ในไทย ทั้งการค้าประเวณี การบังคับใช้แรงงาน หรือการค้าอวัยวะ โดยมีสาเหตุหลักจากการที่คนเหล่านี้ต้องการช่วยเหลือครอบครัวทางด้านเศรษฐกิจการเงิน
70% ของผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์เป็นผู้หญิงและเด็ก โดยที่ 2 ใน 3 ของผู้เสียหายเด็ก เป็นเด็กผู้หญิง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกรับหนี้สินที่ "ไม่ว่าจะทำงานเท่าไหร่ก็ไม่สามารถใช้คืนได้หมด" ถูกกักขังไม่ให้หนีออกมาได้ง่ายๆ ถูกปฏิบัติราวกับทาส และมักประสบกับการใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวันและการใช้ความรุนแรงทางเพศ
แม้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จะได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กระบวนการไต่สวนบางขั้นตอนกลับมีผลซ้ำเติมผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายบางคนรู้สึกว่า "ทั้งๆ ที่คิดว่ามีคนมาช่วยแล้วแท้ๆ" แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องกับคดีอาจทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล เพราะเกรงจะถูกตัดสินหรือถูกประณามจากสังคมรอบตัว
เนื้อหาตอนหนึ่งในมังงะอธิบายด้วยว่า "พวกคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เจอเรื่องนี้กับตัวเอง ไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้เสียหาย สุดท้ายก็พากันพูดถึงแต่ความผิดพลาดของผู้เสียหาย ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายให้จนมุมโดยไม่รู้ตัว"
ด้วยเหตุนี้ มังงะเรื่องนี้จึงเสนอแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง "ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลัก" และใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่คำนึงถึงสภาพจิตใจและเข้าใจบริบทในชีวิตของผู้เสียหาย โดยระบุว่า เป็นหลักการเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้ในการช่วยเหลือและดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: