ไม่พบผลการค้นหา
เปิดห้องทำงานสายด่วน 1668 บริการจัดหาเตียง-สถานพยาบาลช่วยผู้ป่วยติดโควิด-19 หลังเจอกระแสดราม่าความไม่พร้อม พบมีคอมพิวเตอร์ 5 เครื่อง ปริ้นเตอร์อีก 3 เครื่อง เจ้าหน้าที่ยอมรับเหนื่อย แต่สู้เพื่อประชาชน

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.แถลงออกโทรทัศน์และเฟซบุ๊กทั่วประเทศ แจกเบอร์สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตัวกลางช่วยประสานหาเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19

แต่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุในวงคณะทำงานเพื่อสรุปแนวทางของโรงพยาบาลสนาม ผ่านไปยัง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ว่า ได้สั่งให้คนทดลองโทร 1668 แล้ว ปรากฏว่า ไม่มีใครรับสาย ขอให้ไปแก้ไขด่วน “ผมไม่ได้จับผิดท่าน แต่ไม่มีคนรับสาย ให้แก้ไขด่วน

นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่โซเชียลมีเดีย แห่ถล่มสายด่วน 1668 ว่าไม่มีความพร้อม ไม่มีใครรับสาย บางคนติดเชื้อโควิด-19 รอเจ้าหน้าที่มารับตัวเป็นเวลาหลายวันแล้ว ยังไม่เห็นวี่แวว สุดท้ายติดกันทั้งบ้าน

ห้องสายด่วน 1668 โควิด

วันที่ 23 เม.ย. 2564 ทีมข่าว “วอยซ์” ได้ไปทำการสำรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตอบสนอง 1668 บนห้องทำงานชั้น 4 อาคารกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ภายในห้องมีเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 15 คน โต๊ะทำงานสำหรับรับสาย 5 โต๊ะ เป็นโต๊ะไม้ โต๊ะสำหรับคอมพิวเตอร์ 5 เครื่อง , ปริ้นเตอร์ 3 เครื่อง , กระดานไวท์บอร์ด 3 กระดาน , เก้าอี้บางตัวเป็นพลาสติก , ขณะที่ตู้เย็นและไมโครเวฟ เพิ่งถูกย้ายเข้ามาเมื่อเช้าวันเดียวกันนี้เอง

สำหรับห้องทำงานบนชั้น 4 อาคารกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นการทำงานของทีมประเมินความเสี่ยงและแยกระดับความรุนแรงในอาการของผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นทีมที่ 3 ของสายด่วน 1668 และเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนรับ-ส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล

โดยทีมนี้มีหน้าที่รับสายหรือโทรสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงในระดับใด และควรจัดสรรให้เข้าทำการรักษาในสถานพยาบาลรูปแบบใด ทั้งนี้ ได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข สลับสับเปลี่ยนกันทำงาน ไม่ต่ำกว่า 200 คน

1668 โควิด

ผศ.พญ.พัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว นายแพทย์สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ แพทย์ประจำศูนย์ 1668 ให้ข้อมูลว่า การทำงานของสายด่วน 1668 แบ่งเป็น 3 ทีม ทีมแรก คือคอลเซ็นเตอร์ มีหน้าที่รับข้อมูลประมาณ 30 คู่สาย ก่อนส่งข้อมูลไปยังทีมที่ 2 เพื่อกรอกข้อมูลลงระบบ ส่วนทีมที่ 3 คือทีมประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย และแยกระดับความรุนแรงของอาการ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

“กลุ่มสีเขียว” ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ส่งรักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel

“กลุ่มสีเหลือง” มีอาการไม่รุนแรงแต่เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ส่งรักษาในโรงพยาบาล 

“กลุ่มสีแดง” มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ส่งรักษาในโรงพยาบาล

ห้องสายด่วน 1668

ผศ.พญ.พัชรินทร์ กล่าวว่า 1668 ให้บริการประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ไม่เกี่ยวกับต่างจังหวัด ส่วนปัญหาความล่าช้าก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นหลายกรณี เช่น คู่สายพันกัน เจ้าหน้าที่ใช้เวลาพูดคุยกับผู้ป่วยนาน โดยปัญหาได้รับการแก้ไขด้วยการเพิ่มบุคลากร ลดเวลาการพูดคุยให้มีความกระชับขึ้น พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ รับประกันได้ว่าประชาชนจะได้รับการบริการเป็นที่ดี

นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลต่างมีความรู้และประสบการณ์ทำงาน แม้อาจล่าช้าบ้าง เพราะต้องจัดสรรเตียงตามความเหมาะสม โดยกลุ่มสีแดง จะได้รับการจัดสรรอย่างเร่งด่วน ส่วนกลุ่มสีเหลืองและเขียว จะได้รับการจัดสรรที่ลดหลั่นลงมา

เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนเหนื่อย บางวันต้องกลับตี 2 แต่เราทำวันนี้เพื่ออีกหลายๆวันข้างหน้า และเพื่ออีกหลายๆคน สิ่งที่ได้รับมาคือกำลังใจ ทีมนี้ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา เมื่อทำงานแล้วทำให้รู้สึกว่าได้ช่วยคนอื่น ช่วยประเทศชาติ เราอยากให้คนไทยทุกคนมีสติดูแลตัวเอง เราเองก็จะดูแลคนไข้อย่างดีที่สุด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ห้องสายด่วน 1668 โควิด

เสียงวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของสายด่วน 1668 ผศ.พญ.พัชรินทร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามีปัญหาในช่วงแรกๆ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะกิจ และทุกอย่างเริ่มลงตัว โดยทีมได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างมีปัญหาและอุปสรรค เราจะเอาปัญหาและอุปสรรค พร้อมเสียงวิจารณ์ต่างๆ มาพัฒนาทีมต่อไป

ถามว่าทีม 1668 ต้องการการสนับสนุนด้านใดบ้าง ผศ.พญ.พัชรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการการสนับสนุนมากที่สุดตอนนี้คือความร่วมมือจากประชาชน ผู้ไม่ป่วยต้องดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด ส่วนคนที่ป่วย ต้องเข้าระบบให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สายด่วน 1668 อยากเห็นแต่ละหน่วยงานมีการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ไม่ทำงานแยกส่วนกัน