ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนตอบแบบสอบถามสวนดุสิตโพลเรื่องบทเรียนการเมืองหลังเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ระบุ 'ผิดหวัง' การทำงานของ กกต. การเลือกตั้งไม่อาจแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้การเลือกตั้งจะผ่านไปนานแล้ว

สวนดุสิตโพลเผยแพร่ผลสรุปแบบสอบถามเรื่อง "บทเรียนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง" ในวันที่ 7 ก.ค.2562 โดยระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ประชาชนหวังว่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลถึงปัญหาต่างๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะกรณีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการเปิดเผยโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีรอบใหม่ล่าสุด มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมืองและมีความห่วงใยต่อบ้านเมือง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,215 คน ระหว่างวันที่ 3 - 6 ก.ค. 2562 พบว่า เรื่องที่ประชาชนสมหวังหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ได้แก่ อันดับ 1 ประชาชน คนรุ่นใหม่ตื่นตัว ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น ร้อยละ 42.67 อันดับ 2 ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ร้อยละ 38.00 และ อันดับ 3 ผู้สมัครที่เลือกชนะเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ชอบได้ ส.ส.หลายคน ร้อยละ 21.33

ส่วนเรื่องที่ประชาชน 'ผิดหวัง' ได้แก่ อันดับ 1 ปัญหาการทำงานของ กกต. การเลือกตั้งไม่โปร่งใส ประกาศผลล่าช้า ร้อยละ 54.75 อันดับ 2 ยังคงขัดแย้ง แตกแยก ถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ ร้อยละ 30.68 และอันดับ 3 เลือกตั้งผ่านมานานแล้วแต่ประเทศไม่เดินหน้า ยังไม่มีรัฐบาล ร้อยละ 18.29

ประเด็นที่ประชาชนคิดว่า 'เป็นประโยชน์' ต่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป คือ อันดับ 1 ต้องมีระบบตรวจสอบการนับคะแนนที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส ร้อยละ 43.63 อันดับ 2 การทำหน้าที่ของ กกต.ต้องเป็นกลาง ตรวจสอบได้ ร้อยละ 33.05 อันดับ 3 กระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร้อยละ 26.00 อันดับ 4 จะพิจารณาตัดสินใจเลือก ส.ส. ให้ละเอียดมากขึ้น ดูจากพฤติกรรม ส.ส.ในครั้งนี้ ร้อยละ 23.16 และอันดับ 5 ควรมีการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า จัดการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 17.41

สิ่งที่ประชาชน “ประทับใจ” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือ อันดับ 1 มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ ร้อยละ 47.18 อันดับ 2 ประชาชนตื่นตัว คนรุ่นใหม่สนใจติดตามข่าวสารการเมืองไทยมากขึ้น ร้อยละ 32.66 และอันดับ 3 เป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง มีนโยบายที่หลากหลาย ร้อยละ 26.21

นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชน “อยากลืม” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือ อันดับ 1 การแบ่งโควต้า แย่งชิงตำแหน่งกัน เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ร้อยละ 43.39 อันดับ 2 ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ร้อยละ 36.61 และอันดับ 3 ความล้มเหลวของระบบการเมืองไทย ได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ร้อยละ 22.03

สวนดุสิตโพล บทเรียนการเลือกตั้ง ก.ค.2562