ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการแพทยสภาชี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การุณยฆาตแบบในต่างประเทศ แต่มี ม. 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพ ที่ให้ผู้ป่วยตัดสินใจไม่ให้แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิต หลังมีหนุ่มไทยตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้วยการุณยฆาต เพราะป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง ไม่สามารถรักษาได้

พล.ต.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาเปิดเผยว่า จากกรณีที่มีคนไทยรายหนึ่งเดินทางไปทำการุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นไปตามกฎหมายที่มีบางประเทศในยุโรป และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ทำได้ แต่กระบวนการต้องเป็นไปตามกฎหมายรองรับ มีขั้นตอน เงื่อนไขที่ชัดเจนไม่ใช่ใครก็ทำได้ 

ขณะที่โอกาสที่จะเกิดการการุณยฆาตในไทยเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลหลายอย่างทั้งการรักษาพยาบาล ข้อกำหนดของโรคที่มีความจำเป็นต้องทำการุณยฆาตรวมทั้งระบบประกันชีวิต

ทั้งนี้ ประเทศไทยมี มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพ ที่ใช้มานานแล้ว เรียกว่าการแสดงเจตจำนงจากไป หรือการตายแบบธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษา หรือการยื้อชีวิตด้วยอุปกรณ์ใดใดก็ตาม โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เรียกว่า Living Will มีผลใช้บังคับกับทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือแพทย์ที่ทำการรักษา ที่จะต้องเคารพเจตนาของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาตามที่ได้แสดงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ซึ่งปัจจุบัน ยังพบว่ามีผู้ป่วยน้อยราย ที่จะแสดงเจตจำนงนี้

เลขาธิการแพทยสภา จึงขอให้ผู้ที่รับข่าวสารอย่าสับสน กับคำว่าการุณยฆาต ที่มีเฉพาะบางประเทศในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาบางรัฐ ที่มีกฎหมายรองรับ ที่แตกต่างจาก Living Will หรือการปฏิเสธการรักษาในผู้ป่วยที่ต้องการตายแบบธรรมชาติ ซึ่งได้บรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติสุขภาพของไทยแล้ว

ส่วนการชี้แจงให้เห็นความแตกต่างของการุณยฆาต กับ การแสดงเจตจำนงจากไป หรือการตายแบบธรรมชาติ เกิดขึ้นหลังจากที่ เพจเฟซบุ๊ก Drama Addict เปิดเผยว่า ได้ติดตามอ่านเฟซบุ๊กของหนุ่มชาวไทยที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง และสู้มานาน ผ่าตัดมาไม่รู้กี่ครั้ง ผ่านไปหลายปีแนวโน้มการรักษาไม่ดี โรคกลับมาเป็นซ้ำ และมีความเสี่ยงว่าจะต้องนอนบนเตียงไปตลอดชีวิตที่เหลือ ซึ่งชายคนนี้ไม่อยากให้ญาติเดือดร้อน เลยตัดสินใจใช้เวลาที่เหลือเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสามารถทำการุณยฆาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย