ไม่พบผลการค้นหา
'เทพไท" แจงหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. แตกต่างกัน อีกทั้ง ส.ส. มีหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องสละเงินเดือนเข้ากองทุนสู้โควิด-19 ต่างจาก ส.ว. ที่ทำหน้าที่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับประชาชน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.บริจาคเงินเดือน เพื่อตั้งเป็นกองทุนสู้กับไวรัสโควิด-19 ว่าในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า สภาฯ ยังไม่มีความคิดเรื่องการหักเงินเดือนของ ส.ส. เพราะ ส.ส. ดูแลประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งต่างกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ขอความร่วมมือให้สมาชิกวุฒิสภาบริจาคเงินเดือนคนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท เข้ากองทุน ซึ่งทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันใน 3 ประการ คือ

1. เรื่องที่มา ส.ว.มาจาก การแต่งตั้งของคสช. ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ต่างกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีพื้นที่รับผิดชอบคือเขตเลือกตั้งของตนเอง

2. เรื่องบทบาท ส.ว. มีบทบาททางการเมืองแค่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสภาพี่เลี้ยงให้รัฐบาล แต่ ส.ส.มีบทบาทในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนโดยตรง

3. เรื่องหน้าที่ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ส่วน ส.ส.มีหน้าที่ออกกฎหมาย และควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

เพราะฉะนั้น ทั้งที่มา บทบาท และหน้าที่ของ ส.ส.กับ ส.ว.แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ส่วนตัวไม่ขัดข้อง ยินดีที่จะบริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 และเป็นสิทธิของ ส.ส.แต่ละบุคคลที่จะบริหารจัดการกับเงินเดือนของตัวเองอย่างไร จะบริจาคเงินเดือนตลอดอายุของสภา หรือจะบริจาคเงินเดือนตลอดช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือจะบริจาคจำนวนกี่เดือนก็สามารถทำได้ตามจิตศรัทธา แต่ไม่ไปกดดันเพื่อน ส.ส.คนอื่นๆ เพราะ ส.ส.แต่ละคนมีรูปแบบและวิธีการบริจาคในการช่วยเหลือประชาชนที่แตกต่างกัน 

S__10256518.jpg
  • เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมชาติ ประชาธิปัตย์

ในความเป็นจริง ส.ส.ทุกคน ต่างก็มีความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส.ส.คนใดไม่สนใจในการช่วยเหลือประชาชนก็สุ่มเสี่ยงกับการสอบตกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงต้องทำให้มีการร่วมกันต่อต้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับประชาชนในพื้นที่โดยปริยาย ต้องยอมรับความจริงว่ามี ส.ส.บางคนเสียค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่าเงินเดือนของ ส.ส.ที่ได้รับจากสภาฯ ด้วยซ้ำไป ส่วนตัวได้ใช้เงินเดือนในเดือน มี.ค. ซื้อหน้ากากอนามัย และเงินเดือนในเดือน เม.ย. ซื้อสเปรย์แอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแจกประชาชนในพื้นที่ และจะทำแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้

สำหรับการตั้งกองทุนเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อาจจะมีปัญหาในทางปฎิบัติว่าจะมีวิธีใช้เงินกองทุนอย่างไรให้กระจายไปได้ในทุกพื้นที่ ถึงมือประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแตกต่างกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.จำนวน 500 คน ที่มีพื้นที่ความรับผิดชอบชัดเจน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญและสนับสนุนบทบาทของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน มีเครือข่ายเต็มพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการช่วยเหลือประชาชนร่วมกับฝ่ายรัฐบาล จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้มากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง