ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.อสมท ยืนยันไม่เคยระบุถึงการแบ่งค่าเยียวยากับบริษัทเอกชน 50:50 เดินหน้าอุทธรณ์หากมติ กสทช.ไม่คุ้มค่ากับที่องค์กรคาดหวัง ฟาก 'ประธานสหภาพฯ อสมท' ขอหลักฐานชี้แจงข้อเท็จจริง หากมีพร้อมยอมรับ

จากที่มีข่าวคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ต ของ อสมท ที่คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอเวนคืนกลับไปเพื่อไปทำ 5G เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา และสหภาพ อสมท ร้องเรียน ทำหนังสือร้องถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ กสทช. จะแบ่งเงินจำนวน 3,235 ล้านบาท ให้กับทาง อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค ซึ่งเป็นผู้เช่าคลื่นดังกล่าว

ต่อมา กสทช. แจ้งว่าได้มีหนังสือจาก อสมท โดย นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ให้แบ่งเงินจำนวนร้อยละ 50 ให้กับบริษัทเพลย์เวิร์ค ซึ่งบอร์ดหลายคนได้ทักท้วงในที่ประชุมว่า นายเขมทัตต์ ไม่มีอำนาจที่จะทำเรื่องไปถึง กสทช. เพื่อให้แบ่งเงินครึ่งหนึ่ง และจากการหารือบอร์ดส่วนใหญ่ได้ทำหนังสือทักท้วงไปถึงประธานบอร์ด โดยเห็นตรงกันว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไม่มีสิทธิ์ ถือเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ และ อสมท รวมทั้งส่งผลให้บอร์ดหลายคนลาออกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ล่าสุดนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวที่โรงแรมคอนราด เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหนังสือที่ทำถึง กสทช. มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กร บมจ.อสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ข่าวที่เกิดขึ้นจึงมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น

อ้าง กสทช.ไม่เคยสอบถามหรือแจ้งมูลค่าเงินเยียวยาคืนคลื่น

ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในขั้นตอนการเยียวยาและชดใช้ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ เมื่อมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ บมจ.อสมท และเอกชนคู่สัญญาได้ทำการประมาณรายได้และค่าเสียโอกาสส่งให้ กสทช. โดยมูลค่าที่ได้ส่งไปคือ 50,000 ล้านบาท บนระยะเวลาถือครองคลื่นความถี่ 15 ปี โดยตนได้ไปชี้แจงกับ กสทช. หลายครั้ง ซึ่งได้ยืนยันมูลค่าเสียโอกาสที่ 50,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กสทช.ไม่เคยสอบถามเลยว่าต้องการได้รับเงินเยียวยาเท่าใด มีแต่เพียงขอให้ส่งประมาณการรายได้และกำไรของโครงการให้เท่านั้น ซึ่ง บมจ.อสมท ได้ส่งประเมินรายได้รวมในการประกอบกิจการเป็นเวลา 15 ปี ไว้ที่ 226,830 ล้านบาท ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาตนยืนยันในมูลค่าความเสียหายที่ได้แจ้งไปมาตลอด และไม่เคยยอมรับมูลค่าเงินเยียวยาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

นายเขมทัตต์ กล่าวว่า อสมท และคู่สัญญา มีความพยายามที่จะให้บริการทีวีบอกรับสมาชิก โดยก่อนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ได้มีการลงทุนและการเตรียมการมาโดยตลอด จึงได้แจ้งกับ กสทช.ว่า หากมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ สมควรจะได้รับเงินเยียวยา ชดเชย และค่าเสียโอกาสให้สมกับการที่ได้ลงทุนมาตลอด 10 ปี ในการต่อสู้เรื่องการใช้คลื่นเพื่อทำธุรกิจและ 2 ปี ในการเรียกคืนคลื่นความถี่

อีกทั้ง ตลอดเวลาของการไปชี้แจงกับสำนักงาน กสทช. และอนุกรรมการเยียวยาฯ ของ กสทช. ไม่เคยทราบเลยว่าจะได้ค่าชดเชยมูลค่าเท่าใด จนสุดท้ายในการพิจารณาของกรรมการ กสทช. ได้ไปชี้แจง แต่กรรมการ กสทช. มีความเห็นว่าการชี้แจงยังไม่ชัดเจน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงกลับมา 2 ประเด็น คือ อำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับคู่สัญญา หลังจากทำหนังสือชี้แจงแล้ว ตนยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้รับทราบ

ชี้ส่วนแบ่งเงินคืนคลื่น ยึดตามสัญญาที่มีอยู่

นายเขมทัตต์ กล่าวว่า จุดยืนของเรื่องนี้ คือ กสทช. มีหน้าที่เยียวยาคืนคลื่นความถี่ โดยแบ่งการเยียวยาออกเป็นสามส่วนคือ มูลค่าที่ต้องทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน โดยขอให้กสทช.เร่งพิจารณาตามสัดส่วนที่เป็นธรรม ตามที่คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ มีความเห็น เรียกร้องในส่วนที่ อสมท จะต้องได้ ขอย้ำว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยทราบวงเงินเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยาเท่าใด และเมื่อทุกอย่างไปต่อไม่ได้ จะต้องยึดตามสัญญาที่มีอยู่

"ผมจะอุทธรณ์มติเงินเยียวยาฯ ของ กสทช.และไม่ทราบมติของ กสทช.ในส่วนของเงินเยียวยา ขอยืนยันว่าผมทำเพื่อผู้ถือหุ้นและพนักงาน ที่มีข่าวว่าผมยอมรับแบ่งเงิน 50 : 50 ไม่เป็นความจริง ผมไม่สนใจว่าตัวเลขของผู้เสียหายเท่าไหร่ และผมก็ไม่เคยบอกว่าผมยอมรับตัวเลข 3,200 ล้านบาท สิ่งที่ผมทำได้และทำได้ดีที่สุดขององค์กรคือ ต้องไปบล็อกไม่ให้ กสทช. อนุมัติตามสัญญา เพราะไม่เช่นกัน อสมท จะเสียเปรียบ" นายเขมทัตต์ กล่าว

พร้อมกับระบุว่า การอุทธรณ์จะเกิดขึ้นหลังจาก อสมท ได้รับแจ้งมติที่ประชุมบอร์ดกสทช. จากสำนักงาน กสทช. คิดว่าการอุทธรณ์สามารถดำเนินการได้เลย เมื่อได้รับการแจงมติบอร์ด กสทช. จากนั้นจะแจ้งกับที่ประชุมผู้ถือหุ้น อสมท เห็นว่าหาก กสทช. มีมติออกมาแล้วไม่คุ้มค่ากับที่องค์กรคาดหวัง เราต้องอุทธรณ์แน่นอน ส่วนที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรับคำร้องจากพนักงาน เข้าใจว่ารัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลด้วยความเป็นห่วงเป็นใย

เมื่อถามว่า เรื่องนี้สุดท้ายจะไปจบที่ศาลหรือไม่ นายเขมทัตต์ กล่าวว่า หากยังตกลงกันไม่ได้ อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้การเยียวยาแก่อสมท และคู่สัญญาต้องทอดเวลาออกไป

ปธ.สหภาพ อสมท ท้านำเอกสารแผนการลงทุนมายืนยัน

ด้านนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพฯ อสมท กล่าวว่า ประเด็นที่ ผอ.อสมท แถลงวันนี้ เป็นการเบี่ยงประเด็น เพราะหากไม่ได้รับการยืนยันตัวเลขการเยียวยาจาก กสทช. ทำไม ผอ.อสมท ไม่ทำหนังสือทวงถาม เพื่อให้ กสทช.ชี้แจงตัวเลขที่แท้จริง จนสหภาพ อสมท ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยื่นกับ กสทช.เอง เมื่อช่วงที่ผ่านมา และส่วนที่ระบุว่าไม่เคยมีเรื่องยอมรับแบ่งเงิน 50:50 กับ บริษัทเอกชนแล้วทำไมถึงมีหนังสือออกมาได้ อยากให้ออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตามทางออกเรื่องนี้ที่ดีที่สุดก็คือ หากได้รับเงินเยียวยามาแล้ว ต้องส่งมาที่ อสมท ก่อน พิจารณาจากเอกสารข้อเท็จจริงว่าเอกชนมีแผนลงทุนไปอย่างไร เท่าไหร่ และดำเนินการเยียวยาตามความจริง ไม่ใช่แบ่งกันคนละครึ่ง

"ถ้ามีเอกสารและแผนการลงทุนจริง ให้เอามาแสดง เอามาตบหน้าผมได้เลย เราก็พร้อมยอมรับ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นเอกสารอะไรเลย" นายสุวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 นายจตุพร ปานรักษา ประธานกรรมการ บมจ.อสมท ทำหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนของสหภาพฯ อสมท เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บมจ.อสมท และกรณีมีข่าวผ่านทางสื่อมวลชน เรื่องการสั่งการให้ตรวจสอบผู้บริหารสูงสุดของ บมจ.อสมท เรื่องคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ต ถึงนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสรุปว่า พร้อมดำเนินการตามที่เรียกร้องหากสิ่งที่ร้องขอหากดำเนินการตามกฏหมายและกระบวนการที่ถูกต้อง

7776236C-A6C2-471E-8686-33A578F5FCA2.jpgE23997E0-8433-4801-A5D1-B6AD263DDB29.jpg