ปัจจุบันนี้ ทางการตุรเคียได้ประกาศสถาการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดิือน ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในภูมิภาคนี้กว่ารอบศตวรษถึง 20,000 ราย โดยยอดผู้เสียชีวิตจากการรายงานในช่วงเย็นของวันอังคารที่ผ่านมา (7 ก.พ.) ที่จำนวน 7,800 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตในตุรเคีย 5,894 ราย และได้บาดเจ็บประมาณ 32,000 ราย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในซีเรียพบเพิ่มขึ้นเป็น 1,932 ราย
ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่ามีผู้ติดอยู่ภายใต้อาคารที่พังถล่มลงมานับหมื่นหลังกี่ราย ในขณะที่ทีมกู้ภัยจากนานาชาติตกอยู่ภายใต้สภาพการทำงานที่ยากลำบาก ทั้งจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ย่ำแย่ และสภาพถนนที่เลวร้าย โดยในตุรเคียมีผู้ถูกดึงออกมาจากใต้ซากอาคารแล้วอย่างน้อย 8,000 ราย ในขณะที่มีประชาชนอีก 380,000 รายที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ และไปอาศัยอยู่ในที่พักหรือโรงแรมของรัฐบาล ตลอดจนในห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา มัสยิด และศูนย์ชุมชน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.พ.) ในขณะที่มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตโดยประมาณอยู่ที่ 2,600 ราย แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินอาวุโสขององค์การอนามัยโลกประจำยุโรป กล่าวว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจมีเพิ่มขึ้นถึง “แปดเท่าตัว” จากตัวเลขรายงานเริ่มต้น “เรามักจะเห็นสิ่งเดียวกันเสมอกับแผ่นดินไหว แต่โชคไม่ดีที่รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในสัปดาห์ต่อๆ ไป” สมอลวูดกล่าว
รัฐบาลหลายประเทศเร่งส่งความช่วยเหลือ บุคลากร และอุปกรณ์เพื่อช่วยปฏิบัติการกู้ภัย ข้อเสนอด้านการมอบความช่วยเหลือ มีเข้ามายังตุรเคียและซีเรียตลอดช่วงวันจันทร์จากประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง รวมถึงอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ตุรเคียกล่าวว่าชาติของตัวเองได้รับข้อเสนอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 45 แห่ง ตั้งแต่คูเวต อินเดีย ไปจนถึงรัสเซีย
เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างหนัก ในการตอบรับกับโศกนาฏกรรมหลังจากการเกิดภัยพิบัติในครั้งนี้ ก่อนที่ตุรเคียจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยเออร์โดกันกำลังหาทางปกครองตุรเคียต่อ หลังจากการเป็นผู้นำมาในช่วง 2 ทศวรรษนี้ “ทุกคนทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับความพยายาม แม้ว่าฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืนจะทำให้สิ่งต่างๆ ยากขึ้น” ประธานาธิบดีตุรเคียกล่าว
ที่มา: