ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ อิสราเอลเจอภัย 'งูเห่า' หลังจัดเลือกตั้งไปแล้วเกือบ 2 เดือน แต่พรรคพันธมิตรเมินร่วมจัดตั้งรัฐบาลจนพ้นกำหนดเส้นตาย เที่ยงคืน 29 พ.ค. ทำให้ที่ประชุมลงมติ 'ยุบสภา' เตรียมเลือกตั้งใหม่ 17 ก.ย.นี้

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 4 สมัย ไม่อาจเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จตามกำหนดเวลา แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศจะผ่านพ้นไปตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ทำให้ที่ประชุมลงมติยุบสภา และประกาศวันเลือกตั้งใหม่ 17 ก.ย.2562 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยมีผู้ประเมินว่า เนทันยาฮู ซึ่งกำลังจะอยู่ในตำแหน่งครบ 11 ปีในเดือน ก.ค.ที่จะถึง อาจไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้

นักวิเคราะห์มองว่า อนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเริ่มพลิกผัน และการแข่งขันกันเองในพรรครัฐบาล 'ลิคุด' ของเนทันยาฮู ทวีความเข้มข้นและแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากเนทันยาฮูและภริยาถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริต รวม 3 คดี

เนทันยาฮูปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายป้ายสีของฝั่งตรงข้ามทางการเมือง เขาจึงพยายามผลักดันกฎหมายรับรองเอกสิทธิทางการเมือง ซึ่งจะคุ้มครองให้เขารอดพ้นการถูกไต่สวนในคดีทุจริต รวมถึงผลักดันกฎหมายอีกฉบับที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการลดทอนอำนาจศาลที่มีหน้าที่พิจารณาคดีทางการเมือง สมาชิกพรรคลิคุดหลายรายจึงเริ่มแสดงท่าทีต่อต้านเนทันยาฮู เพราะเกรงว่าคดีดังกล่าวจะกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรค

นอกจากนี้ การเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พรรคลิคุดภายใต้การนำของเนทันยาฮูก็ไม่ได้เป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภาเยอะที่สุด โดยพรรคบลูแอนด์ไวท์ (BW) ซึ่งเพิ่งตั้งใหม่ได้ไม่นาน มีเสียงในสภา 35 เสียงเท่ากันกับพรรคลิคุด เพียงแต่พรรค BW ยังไม่สามารถรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน

อุปสรรคทางการเมืองอีกประการหนึ่งของนายกฯ อิสราเอลมาจากอดีตพันธมิตรอย่าง 'อะวิกดอร์ ลีเบอร์แมน' ผู้นำพรรคยิสราเอล เบทนู (YB) ซึ่งมี 5 เสียงในสภา แต่เป็นเสียงที่สามารถชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ เนื่องจากพรรคลิคุดกับพรรคพันธมิตรเดิม มีเสียงรวมกัน 65 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 120 ที่นั่งในสภา แต่เมื่อพรรค YB ประกาศว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคลิคุดในครั้งนี้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะเสียงหายไป 5 เสียง

ลีเบอร์แมน เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลเนทันยาฮูชุดก่อนหน้านี้ แต่การเคลื่อนไหว 'แตกแถว' ครั้งล่าสุด ถูกอธิบายว่า เกิดจากความไม่พอใจที่เนทันยาฮูและพรรคลิคุดไม่ยอมสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายเกณฑ์ทหาร เพราะลีเบอร์แมนต้องการให้เยาวชนชายอายุครบ 18 ปี จากกลุ่มประชากรผู้นับถือศาสนายูดา นิกายออร์ธอดอกซ์ เข้ารับการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับเยาวชนชายกลุ่มอื่นๆ ในอิสราเอล เนื่องจากที่ผ่านมา เยาวชนกลุ่มเคร่งศาสนาดังกล่าวได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร เพราะขัดต่อความเชื่อทางศาสนา

นอกจากนี้ แรบไบ ราฟี เปเรตซ์ ผู้นำพรรคยูไนเต็ด ไรท์ (UR) หนึ่งในพรรคพันธมิตรของเนทันยาฮู ซึ่งเป็นตัวแทนของพลเมืองกลุ่มเคร่งศาสนายูดา นิกายออร์ธอดอกซ์ เป็นพรรคที่มีเสียงในสภา รวม 5 เสียง เช่นเดียวกับพรรคของลีเบอร์แมน ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าว

การตัดสินใจไม่เข้าร่วมรัฐบาลของลีเบอร์แมน ทำให้เนทันยาฮูไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เมื่อเลยกำหนดเวลาที่จะต้องประกาศผลจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สมาชิกสภาลงมติยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกเดียวที่มีอยู่ในตอนนี้ แต่อาจส่งผลสะเทือนต่อเนทันยาฮูและพรรคลิคุดจนนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงภายในพรรคเอง

นักวิเคราะห์ในต่างประเทศยังประเมินด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งซ่อมอิสราเอลเดือน ก.ย. น่าจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาผลักดันแผนสันติภาพตะวันออกกลางของ 'จาเรด คุชเนอร์' ลูกเขยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลเนทันยาฮูมาโดยตลอด

นอกจากนี้ พรรคบลูแอนด์ไวท์ (BW) ภายใต้การนำของ 'เบนนี กันส์' อดีตผู้บัญชาการกองทัพอิสราเอล ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเนทันยาฮู เนื่องจากมีแนวคิดขวากลาง ทั้งยังหาเสียงด้วยนโยบายกำจัดคอร์รัปชัน ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้นำ 'รัฐบาลสะอาด' รวมถึงส่งเสริมการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ โดยระบุว่าจะไม่ละเลยประเด็นความมั่นคง ซึ่งปูมหลังของกันส์ซึ่งเกี่ยวโยงกับทหาร ทำให้คำหาเสียงนี้มีน้ำหนักมากขึ้น

ที่มา: NBC News/ New York Times/ Time