ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีคนขาดรายได้ ตกงาน ธุรกิจขาดทุนอย่างหนัก ปัญหาเศรษฐกิจที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกไม่ต่างจากไวรัส ส่งผลให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลมีไม่เพียงพอ โครงการ ‘ตู้กับข้าวฟรี’ จึงได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อให้คนในชุมชนแบ่งปันอาหารกับผู้อื่นได้ โดยไม่สร้างความอับอายให้กับผู้รับ

โครงการที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘ตู้ปันสุข’ เป็นโครงการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการตู้กับข้าวฟรีในต่างประเทศที่ทำกันมานานหลายปีแล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหนึ่งในประเทศที่มีโครงการธนาคารอาหารและตู้กับข้าวฟรีจำนวนมากคือ สหรัฐฯ

โครงการธนาคารอาหารและตู้กับข้าวฟรีในสหรัฐฯ มีทั้งโครงการที่เป็นของรัฐบาล มีงบประมาณจัดสรรมาเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารอย่างสม่ำเสมอ มีโครงการที่เป็นของมูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำด้านนี้โดยเฉพาะ และมีโครงการที่คนในชุมชนตั้งตู้กับข้าวฟรีเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนกันเอง โดยแต่ละโครงการก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปว่าผู้รับจะต้องลงทะเบียนในโครงการหรือไม่ ต้องมีรายได้เท่าไหร่ ห้ามคนที่รับอาหารจากโครงการได้รับอาหารจากอีกโครงการหรือไม่ ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบผู้เข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารไปถึงมือของกลุ่มเป้าหมาย ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ Little Free Pantry ซึ่งเป็นต้นแบบของ "ตู้ปันสุข" มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป

 

รู้จัก Little Free Pantry (LFP)

โครงการ Little Free Pantry เป็นโครงการที่คนในชุมชนตั้งตู้กับข้าวฟรี โดยคนที่มีกำลังช่วยเหลือนำอาหารไปใส่ไว้ในตู้กับข้าว แล้วให้คนที่ต้องการอาหารไปเปิดตู้กับข้าวได้ โดยที่ผู้ให้และผู้รับไม่ต้องพบหน้ากัน เพราะการรับของจากมือของผู้ให้โดยตรง อาจทำให้คนรู้สึกอับอาย

เว็บไซต์ LFP เขียนไว้ว่า ตู้กับข้าวที่ตั้งในพื้นที่ที่มีความยากจนมาก มักช่วยคนที่ไม่สามารถหาอาหารไปกินได้ทุกวันและคนที่มีความต้องการส่วนตัวต่างๆ ส่วนตู้ที่ตั้งในพื้นที่ที่มีชนชั้นกลางอาศัยอยู่ มักมีเด็กหยิบขนมไปกินหลังเลิกเรียน หรือมีคนไป “หยิบยืม” วัตถุดิบที่ตัวเองหาไม่ได้ “แต่โดยรวมแล้ว LFP เป็นโครงการสำหรับคนที่ต้องการให้” 

ทั้งนี้ LFP เป็นโครงการเล็กๆ ที่ไม่สามารถจัดหาอาหารในปริมาณมากและหลากหลายเท่าธนาคารอาหารของรัฐบาลและตู้กับข้าวของ NGO อื่นๆ แต่ “ LFP ถือเป็นการทดลองและพิสูจน์แนวคิดเกี่ยวกับชุมชน การบริจาค ความยุติธรรม และเศรษฐกิจแบ่งปัน” ที่เข้ามารองรับคนที่ตกหล่น ไม่เข้าเกณฑ์ของโครงการตู้กับข้าวของรัฐบาลและองค์กรต่างๆ 

หลักการสำคัญของตู้กับข้าวฟรีคือการดำเนินงานแบบ “ผู้ให้บริการ” และคนที่ใช้บริการนี้ก็คือ “ลูกค้า” เพื่อละลายการแบ่งแยกระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ขอความช่วยเหลือ เพราะไม่ว่าคนจะนำของไปเติมในตู้หรือไปหยิบของจากตู้ ทุกคนก็เดินเข้าไปที่ตู้ในลักษณะเดียวกัน ตู้กับข้าวจึงเป็นตัวกลางช่วยลดความรู้สึก “อับอาย” ที่เกิดขึ้นหากมีการให้และรับแบบซึ่งหน้า

 

ข้อแนะนำในการตั้งตู้กับข้าวของ LFP

LFP กล่าวว่าสถานที่ตั้งตู้กับข้าวฟรีมีความสำคัญมาก จุดตั้งตู้จะต้องเป็นจุดที่คนเข้าถึงได้ตลอดเวลา คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่อยู่ในจุดที่มีอาชญากรรมสูง ไม่มีการจราจรวุ่นวาย ไม่เกะกะขวางทางจราจร และต้องพิจารณาว่าคนในชุมชนสนับสนุนตู้กับข้าวฟรีหรือไม่ การที่คนเดินไปที่ตู้บ่อยๆ จะสร้างความรำคาญหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนในพื้นที่หรือไม่ หากชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่อากาศร้อนควรตั้งตู้หันไปทางทิศเหนือหรือตะวันออก และเพื่อป้องกันตู้กับข้าวก็สามารถใช้โซ่ล่ามตู้ หรือเทปูนซีเมนต์ทับ

 

ตู้ว่างต้องทำอย่างไร

แรกเริ่ม LFP จะมีคนไปเติมของใส่ตู้กับข้าวกันตามสะดวก ใครสะดวกนำของไปใส่ไว้เมื่อไหร่ก็ทำตามนั้น แต่ความต้องการอาหารมักมีมากกว่าและบ่อยกว่าที่คนจะไปให้ของ ตู้ LFP จึงว่างอยู่เสมอ “แต่ตู้ว่างจะเป็นปัญหาเฉพาะก็ต่อเมื่อไม่มีคนนำของไปใส่ตู้เท่านั้น คุณอาจรวบรวมเพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน คนที่เจอกันในโบสถ์ 30 คนเวียนกันไปช่วยเติมของในตู้กันคนละ 1 วัน เป็นต้น” LFP ยังย้ำว่า การทำเช่นนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมจัดการการบริโภคและทราฟฟิกของตู้กับข้าวได้ ดูวันหมดอายุและสภาพของ โดยเฉพาะในพื้นที่ร้อนจัด

คนที่ไปช่วยซื้อของเติมตู้ควรซื้อของตามความต้องการของผู้รับ ไม่ควรเอาของมีคม สารเคมี ของผิดกฎหมาย หรือเสื้อผ้าเก่าไปใส่ ของที่มักหมดไวได้แก่ ผักดองกระป๋อง โปรตีน เนื้อสัตว์ ของใช้ส่วนตัว กระดาษทิชชู่ รวมถึงของสำหรับเด็ก เช่น สีน้ำมัน อุปกรณ์สำหรับปาร์ตี้ราคาไม่แพง และอุปกรณ์การเรียน

 

โครงการอื่นๆ หาอาหารจากไหนมาใส่ตู้?

โครงการธนาคารอาหารของรัฐบาลและ NGO ทำมักรวบรวมอาหารมาจากร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต และการบริจาคไว้ที่ธนาคารอาหารใหญ่ๆ โดยอาหารที่ได้รับบริจาคมาจากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตมักเป็นอาหารที่ใกล้หมดอายุ ลูกค้าส่วนมากไม่ต้องการซื้อแล้ว แต่ยังไม่หมดอายุ จากนั้นธนาคารอาหารจะค่อยๆ นำอาหารเหล่านั้นแจกจ่ายไปที่ตู้กับข้าวในพื้นที่ต่างๆ

 

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากช่วยบรรเทาความหิวโหย

Hunger Free America องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ ที่ผลักดันนโยบายและโครงการเพื่อยุติความหิวโหยและให้ชาวอเมริกันทุกคนเข้าถึงอาหารที่เป็นประโยชน์ เขียนคำแนะนำไว้ว่า “เมื่อคุณตัดสินใจจะช่วยคนที่หิวโหย คุณเลือกประเด็นที่หนักและความรับผิดชอบที่หนักหนา” เพื่อให้หาทรัพยากรมาตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเข้าใจว่า “การบริจาคไม่ทางแก้ไขปัญหาความอดอยากในระยะยาว” แต่การปฏิรูปนโยบายของรัฐบาลจะเป็นทางเดียวในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

HFA กล่าวว่า ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้พวกเขาไม่แนะนำให้คนทำโครงการใหม่ๆ แต่ควรช่วยเหลือโครงการปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ยกเว้นในพื้นที่ที่ไม่มีมูลนิธิช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางอาหารอยู่ แต่สำหรับคนที่ต้องการทำโครงการลักษณะนี้จริงๆ ก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ในเอกสารของ HFA เนื่องจากการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ

เอกสารคู่มือของ HFA ได้อธิบายตั้งแต่พื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาความอดอยาก และการแก้ปัญหาความอดอยากที่ไม่ได้แก้ได้ด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว พร้อมวิธีตั้งกลุ่มเป้าหมายว่า “ลูกค้า” ของโครงการคือใคร โมเดลของโครงการเป็นอย่างไร เหมาะสมกับชุมชนหรือไม่ ควรใช้วิธีใดคัดกรองผู้รับบริการ และเข้าถึงผู้รับบริการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องด้วยวิธีไหน รับอาหารมาจากประชาชนด้วยกันเอง จากภาคเอกชน หรือภาครัฐ หาเงินทุนช่วยเหลือจากไหน ควรวางระบบบัญชีอย่างไร จะปรับปรุงโครงการอย่างไร และจะใช้ทรัพยากรในการจัดการโครงการอย่างไรบ้าง

 

ที่มา : Little Free Pantry, Sapling, Hunger Free America