ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พรรครัฐบาลสวีเดน ยื่นกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศ ถึงท่าทีและความกังวลของสวีเดนและอียู ที่มีต่อสถานการณ์และขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

โอลเล ธอเรลล์ (Olle Thorell) ส.ส.พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterna - SAP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสวีเดน ได้ยื่นกระทู้ถามเมื่อ 18 พ.ย. ต่อ แอน ลินเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลสวีเดน และสหภาพยุโรป ในการตอบรับและช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรง รวมถึงการสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

ธอเรลล์ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านต่างประเทศของรัฐสภาสวีเดน ระบุใน กระทู้ที่ยื่นถามต่อ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งปรากฎในเว็บไซต์ของรัฐสภาสวีเดน riksdagen ระบุว่า

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นการชุมนุมใหญ่และสันติหลายครั้ง ในเมืองทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมเริ่มจากนักเรียนออกมาชุมนุมเรียกร้อง และตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการในระบบการศึกษา และจากนั้นการชุมนุมก็ยกระดับเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ภาพเยาวชนในชุดนักเรียนที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียุทโธปกรณ์ครบมือสร้างความน่ากังวลใจยิ่ง หลังจากการเกิดรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า และครั้งล่าสุดปี 2557 ทหารเข้ามายึดอำนาจและได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองต่างอยู่ในการกำกับและควบคุมของทหาร นั่นเป็นการเปิดช่องว่างให้รัฐบาลทหารใช้อำนาจในทางอ้อมยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อาทิ พรรคอนาคตใหม่ 

กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสวีเดน (Civil Rights Defender) รายงานว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลลี้ภัยออกนอกประเทศ ถูกลักพาตัวและพบเป็นศพถูกฆาตกรรม แม้ว่ารัฐบาลจะข่มขู่และมีการจับกุมผู้ประท้วง รวมไปถึงการประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แต่การชุมนุมประท้วงอย่างสันติยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม ซึ่งแม้ว่าภายหลัง พ.ร.ก. ฉุกเฉินดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้น

แต่ขณะนี้ มีความกังวลว่าทางรัฐบาลทหารจะใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และมีสัญญาณว่าทางรัฐสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงเข้าทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมประชาคมโลกจึงควรจับตามองกับสิ่งที่เกิดขึ้น และที่สำคัญไม่ว่ากรณีใดๆ ตามผู้ที่มาชุมนุมอย่างสันตินั้นไม่ควรได้รับการทำร้ายหรือถูกคุกคาม ตัวแทนจากนานาประเทศที่เป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปควรจะออกมาแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการลดความขัดแย้งลงได้ หลังจากพบปะกับกลุ่มคนไทยในสวีเดน ผมมีความกังวลและเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

จากในข้างต้นที่กล่าวมา จึงขอตั้งข้อซักถามไปยัง แอน ลินเด ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ว่า จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สวีเดนและสหภาพยุโรป มีส่วนร่วมในการลดความรุนแรงในเหตุประท้วง รวมถึงส่งเสริมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย

รายงานคาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน จะตอบกระทู้ถามเรื่องดังกล่าว ภายในวันที่ 25 พ.ย.นี้