ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' ชวนสตาร์ทอัพไทยรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการเติบโต ด้านเวทีเสวนาชี้รัฐราชการไทยเป็นปัญหา ครวญพิษโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเจ๊ง ทำธุรกิจสตาร์ทอัพไม่เติบโต เหตุธุรกิจตกอยู่ที่ทุนใหญ่

ที่พรรคเพื่อไทย โดยสถาบันสร้างไทย จัดเสวนา "ปลูกโอกาส สร้างเมืองสตาร์ทอัพ" นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดประเด็นในการเสวนา โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำถึงแนวทางของพรรคเพื่อไทยต่อ Start Up (สตาร์ทอัพ) โดย Focus 2 อย่าง คือ เงินกู้ของรัฐเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและ SMEs หลัง COVID-​19 ระบาด มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง SME, กลุ่มstartup และวิสาหกิจชุมชน ควรจะได้เงินก้อนนี้ และแม้รัฐมีการกระจาย แต่ SME รายใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะที่รายเล็กกำลังจะตาย

ส่วนที่สองคือ การดูกฎระเบียบและแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคการเติบโตธุรกิจใหม่ รวมถึงสตาร์ทอัพ กลุ่ม SMEs วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และการจัดเวทีพูดคุยในลักษณะนี้ รวมถึงการคุยวงเล็กเพื่อลงในรายละเอียดหรือ Detail ต่างๆ จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ SME, ธุรกิจรายเล็ก และสตาร์ทอัพของไทยให้เติบโตขึ้น

ทั้งนี้เวทีเสวนามีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ชาริณี กัลยาณมิตร ผู้ก่อตั้ง MOXY ร้านค้าไลฟ์สไตล์ออนไลน์สำหรับผู้หญิง อมฤทธิ์ เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba Coworking Space และ Techsauce Media

อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult ซึ่งเป็น Start Up AgriTech เพื่อเกษตรกรที่มูลนิธิบิล เกตส์ ให้ทุนกว่า 100 ล้านบาทช่อขวัญ ช่อผกา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชาและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Cannabis Technology และ สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานบริษัท อีทราน จำกัด ซึ่งเป็น Start Up สายยานยนต์ จักรยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด 

โดยผู้ร่วมเสวนาต่างย้ำถึงการต้องพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสตาร์ทอัพ รวมทั้งสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคที่สตาร์ทอัพไทยไม่เติบโต โดยเฉพาะปัญหาจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐ ตลอดจนวิสัยทัศน์ผู้มีอำนาจและระบบราชการของรัฐไทย ที่ยุ่งยากและล่าช้าในการดำเนินการ

เพื่อไทย AD9-407B-9C09-1E37E4BAA95B.jpegเพื่อไทย 3-4CA1-8064-80020E41751B.jpeg

ทั้งนี้ ชาริณี ผู้ก่อตั้ง MOXY กล่าวตอนหนึ่ง โดยเปรียบเทียบการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศต่างๆ กับประเทศไทยที่แตกต่างกันมาก โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะลดการลงทุน แต่จะคอย support ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ลองผิดลองถูกและพยายามทำให้เกิดผลกำไร มีกลไกหรือเป็นหุ้นส่วนให้เลือกทำงานได้ มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งการดำเนินการภาครัฐต้องสนับสนุน ไม่เช่นนั้นสตาร์ทอัพจะไปไม่รอด โดยในต่างประเทศ ภาครัฐจะถามความเห็นหรือรับฟังผู้ประกอบการเป็นหลัก 

"ก่อนที่จะทำอะไรต้องถามลูกค้าก่อน ว่าเขาจะไปหรือว่าจะเอาหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแค่ว่าทำแล้ว เดี๋ยวลูกค้าจะตามมาเอง ดังนั้น ภาครัฐต้องคุยกับสตาร์ทอัพก่อนว่าจะทำอะไรและทำที่ไหน สำหรับไทยนั้น เงินอาจจะมี แต่การกระจายเงินทุนยังคิดกลไกไม่ออกหรือรัฐจะทำเอง ทั้งที่ควรจะให้สตาร์ทอัพเป็นคนคิดหรือคิดร่วมกัน"

ด้าน อมฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba กล่าวว่า โมเดลสตาร์ทอัพ ที่เมืองนอกมีเยอะ หลายคนจึงถามว่าทำไมไทยจึงไม่มี พร้อมขยายความว่าที่ต่างประเทศเกิดได้ เพราะรัฐบาลต่างประเทศมองว่า รัฐไม่ได้รู้ดีเท่ากับผู้ประกอบการและปล่อยให้นักลงทุนแข่งขันกัน ภาครัฐอาจไม่ได้หวังกำไรในส่วนนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เสียอะไร เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วย โดยราวปี 2558 การที่ผู้ประกอบการจะทำ E-commerce ขึ้นมาก็กลัวโดนโกง แต่สุดท้ายก็กลัวการ disruption มากกว่า ท่ามกลางการขยายตัวขึ้นของอาลีบาบา จากประเทศจีน จึงเกิดกลุ่มบริษัทที่ทำ E-commerce หลายกลุ่มขึ้นในหลายประเทศ

ย้ำธุรกิจสตาร์ทอัพตกอยู่ทุนใหญ่ ชาวบ้านธรรมดาเข้าไม่ถึง

ส่วน ช่อขวัญ ผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชา กล่าวว่า ธุรกิจด้านนี้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาทำ เพราะเคยผิดกฎหมายและยังมีอคติในสังคมอยู่ แม้เม็ดเงินจากธุรกิจกัญชา จะมีมหาศาล แต่ตกอยู่กับทุนขนาดใหญ่ ชาวบ้านธรรมดาเข้าไม่ถึง ขณะที่เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 ทุกอย่างก็ยุติลง และสตาร์ทอัพไม่ได้เกิดหรือเติบโตขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการหรือการปลูกกัญชาเองโดยของรัฐ จะไม่ให้ผลผลิตที่งอกงาม เพราะไม่มีองค์ความรู้ หรือมีชุดข้อมูลที่ไม่ใกล้เคียงความเป็นจริง และปัจจุบันมีสตาร์ทอัพ ประมาณ 3-4 รายเท่านั้น ที่เหลือเป็น 'บิ๊ก' หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงโอกาส ทั้งข้อมูลและระบบต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องดำเนินการเรื่องกัญชากับรัฐเท่านั้น แม้คนมองเห็นว่า การปลูกกัญชาขายจะนำพาออกจากความจนได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคนจนเข้าไม่ถึงการปลูกจากเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐไทยกำหนดขึ้นมา

เพื่อไทย F0-B114-4D4A-A784-1F65C360DA6B.jpeg

สรณัญช์ ผู้พัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด กล่าวว่า สตาร์ทอัพมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ แต่รัฐไทยติดกับระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สตาร์ทอัพ และแผนที่ให้ สตาร์ทอัพ พัฒนาและแข่งกันเองอย่างเดียวเป็นเรื่องอันตราย โดยเห็นว่า ควรเอามันสมองของสตาร์ทอัพ ไปช่วยคิดหลายๆ อย่างที่เกินกว่าระบบราชการหรือเกินกว่าที่ภาครัฐจะฝันถึงได้ ที่ไม่ใช่แค่ความคิดความอ่านเท่านั้น แต่เอามาช่วยกันสร้างวิสัยทัศน์, Project หรืออะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศโดยใช้เคสหรือกรณีศึกษาของสตาร์ทอัพ จะทำให้ประเทศเดินเร็วขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเปรียบกับการขับเคลื่อนด้วยระบบราชการอย่างปัจจุบัน