ในวันเดียวกับที่คณะราษฏรนัดรวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อยื่นจดหมายให้พระมหากษัตริย์ 'วอยซ์' มีโอกาสถามคำถาม 'คชโยธี เฉียบแหลม' แกนนำเยาวชนช่วยชาติต่อมุมมองที่มีกับสถานการณ์ประเทศในปัจจุบันและประเด็นถกเถียงสำคัญของความแตกต่างระหว่าง 'การปฏิรูป' และ 'การล้มล้าง'
เมื่อให้สมมติบทบาทตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ เยาวชนวัย 15 ปี ตอบคำถามแรกว่า ต้องการยุบสภาก่อนเดินหน้าประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ชุมนุมซึ่งในสายตาของเขามองว่าเป็นไปด้วยความรุนแรง พร้อมยกตัวอย่างประกอบ กรณีภาพข่าวที่ผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนำคีมเหล็กเสมือนตีใส่โล่ของตำรวจจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันที่มีการใช้รถนำแรงดันสูงฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม เมื่อ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
"ถ้าประชาธิปไตยจริงๆ มันจะไม่คุกคามคนอื่น มันจะไม่เอาคีมไปตีแผงที่ตำรวจมาเป็นกำบัง ทำไมผมต้องยุบสภารู้ไหม ยุบสภาปุ๊บ ม็อบมีความรุนแรง ไม่สมเหตุผล มีการใช้ความรุนแรงแบบประชาชนบางคนรับไม่ได้ มีการก้าวล่วงสถาบันที่ประชาชนรับไม่ได้ เรามีเหตุผลในการเจรจาของเขาว่า ใช้ความรุนแรงใช่ไหม สรุปประกาศกฎอัยการศึก จบเลย"
คชโยธี ย้ำว่า บทบาทสำคัญในการบริการประเทศของนายกฯ คือต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับขึ้นมา แต่เงื่อนไขของการฟื้นฟูได้นั้น ประเทศต้องอยู่ในความสงบก่อน จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากจะมีการประกาศกฎอัยการศึกหรือแม้แต่การรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง
ทั้งนี้ เขาสะท้อนความเห็นว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้บริหารประเทศผิดพลาดตรงไหน ส่วนผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากแต่ครอบครัวตนสามารถแก้ไขปัญหา
ขณะที่เมื่อมองไปในอนาคต คชโยธี บอกว่า เขาอยากให้มีการประชุมหารือของคณะรัฐมนตรี ไม่อยากให้ผู้คนใช้อารมณ์เข้าหากัน อยากให้ "ประชาชนได้สุขสบาย" โดยหากมีเรื่องที่ไม่พอใจ เขาคิดว่ากระบวนการที่ดีที่สุดคือการไปยื่นเรื่องให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการ ขณะที่หากมีการชุมนุม ต้องเป็นชุมนุมที่มีเหตุผลเพียงพอ
"ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น บ้านเมืองสงบ มนุษย์ทำทุกอย่างได้อยู่แล้ว มันอยู่ที่แผนงานของรัฐบาล"
อีกประเด็นถกเถียงสำคัญในสังคมไทยตอนนี้มาจากข้อเสนอที่ 3 ของคณะราษฎรที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของประเทศ จนนำไปสู่การตีความที่หลากหลาย
ขณะที่ฝ่ายหนึ่งชี้ว่าปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้น อีกฝ่ายกลับมองว่าความพยายามทำให้ดีขึ้น แท้จริงแล้วเป็นการล้มล้าง ซ้ำยังเป็นการกระทำที่ 'มิบังควร' จนไม่อาจรับได้
คชโยธี ตอบประเด็นดังกล่าวว่า เข้าใจว่าปฏิรูปแปลว่าทำให้ดีขึ้น ส่วนปฏิวัติคือการล้มล้าง แต่ประเด็นที่ชี้แจงคือ ทำไมต้องมีการปฏิรูปตั้งแต่แรกในเมื่อทุกสิ่งอย่างก็เหมาะสมอยู่แล้วทั้งในประเด็นของสถาบันสูงสุด ไปจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีการลงประชามติ
ทว่า เมื่อถามต่อว่า หากมีประชามติครั้งใหม่จากประชาชนส่วนรวมเพื่อยื่นให้แก้รัฐธรรมนูญจริง ตัวเขาจะยอมรับได้หรือไม่ คชโยธี ชี้ว่า "ผมขอให้ถามเสียงประชาชนครับ ประชาชนคิดยังไง (ถ้าเห็นด้วย) ก็มีไป มีใหม่ไปเลย แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย เราก็ต้องคุยกันหน่อย"
ส่วนการตอบคำถามเรื่องสรุปแล้วจะยอมให้มีการปฏิรูปได้หรือไม่ คชโยธี ตอบว่า สุดท้ายแล้วการกระทำของผู้เสนอให้มีการปฏิรูป อาทิ การถวายหนังสือหรือถวายจดหมาย เป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้ ซึ่งเมื่อถามต่อว่า การรับไม่ได้ แปลว่าไม่ควรมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ เลยใช่หรือไม่ คชโยธี ปิดท้ายเพียงสั้นๆ ว่า 'ครับ'
ในช่วงท้าย 'วอยซ์' ถามว่า เยาวชนวัย 15 ปี มองอนาคตตนเองอย่างไรและอยากให้ประเทศเป็นแบบไหน เขายืนยันคำตอบว่าต้องการให้ประเทศสงบสุข สังคมที่อยู่อาศัยเป็นสังคมที่ดี ซึ่งในมุมมองของเขาคือ "สังคมที่เป็นห่วงสถาบัน"