ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มลับชวน "แม่ท้องไม่พร้อม" ซื้อขาย "เด็กทารก" ทนายชี้ค้ามนุษย์ชัดเจน ด้านสหทัย มูลนิธิ เตือนระวังเจอโรค และส่งต่ออันตรายให้กับสังคม

เพจ 'รับอุปการะเด็กจากแม่ที่ท้องไม่พร้อม' ถูกแชร์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากชาวเน็ต เมื่อนำภาพของเด็กทารก ระบุรายละเอียด เพศ อายุ สถานที่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ มานำเสนอให้กับผู้ที่ต้องการอุปการะได้พิจารณา ก่อนติดต่อทำการซื้อขายอย่างโจ๋งครึ่ม 

นอกจากนี้ยังมีการแฉข้อความจากแชต จากผู้ที่มีลักษณะ “ท้องไม่พร้อม" ส่งเข้าไปหาเพจดังกล่าว โดยระบุว่า กำลังตั้งท้องได้ 3-4 เดือน แต่ยังไม่ได้ฝากครรภ์ โดยอ้างว่าคุมกำเนิดแล้วหลุด ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงแต่ก็ไม่กล้าที่จะเอาเด็กออกเพราะกลัวบาป จึงอยากให้ทางเพจช่วยหาคนอุปการะ ซึ่งทางเพจก็ตอบกลับไปว่า “จะติดต่อกลับไป” 

69668084_1398195917009595_2979966391500668928_n.jpg

ค้ามนุษย์ชัดเจน

นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความอิสระ กล่าวว่า การประกาศซื้อขายเด็กผ่านสังคมออนไลน์มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และ พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากเป็นการแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ มีการโฆษณารับเป็นคนกลางในการจัดหา ซึ่งความผิดครอบคลุมทั้ง คนขาย คนซื้อ และเพจตัวกลาง 

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา 6 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

(1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจ โดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือ ผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ 

ทั้งนี้ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตามนายรณณรงค์ แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าใช่เรื่องจริง คาดว่าเป็นการหลอกลวงเพื่อปั่นกระแสในโซเชียลมีเดียมากกว่า

“ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการเต้าข่าว เหตุผลคือ หากมีการซื้อขายลักษณะนี้จริง ผมต้องได้ข้อมูลและได้รับการร้องเรียนก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงการซื้อขายเด็กยังเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับค่านิยมของคนไทยอย่างมาก ไม่เหมือนในเมืองนอก” 

70440928_1398204667008720_9069969282649030656_n.jpg


ระวังเจอดี - ไม่จำเป็นต้องทำผิด

กอบกาญจน์ ตระกูลวารี รองผู้อำนวยการสหทัย มูลนิธิ กล่าวว่า นอกจากผิดกฎหมายแล้วยังมีความเสี่ยงหลายอย่างที่ผู้รับคาดไม่ถึง โดยเฉพาะโรคประจำตัว หรือโรคจากกรรมพันธุ์ที่ติดตัวมากับเด็ก เช่น ภาวะออทิสติก รวมถึงในกลายกรณีผู้รับอาจไม่อยู่ในความพร้อมที่จะรับเลี้ยงดูอย่างแท้จริง เป็นเพียงอารมณ์ช่วยวูบเท่านั้น ไม่ได้ผ่านการประเมินความเสี่ยงและการเรียนรู้ที่จะมีบุตรอย่างถูกต้อง 

“หลายคนเห็นเด็กแล้วเกิดความชอบ อยากได้ไปรับเลี้ยง แต่ผ่านไปสักระยะก็พบว่าตัวเองไม่ชอบ เด็กไม่น่ารักไม่หรือมีนิสัยเหมือนที่คิด”

ทั้งนี้สถิติการปรึกษาและฝากเลี้ยงเด็กจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมของ สหทัย มูลนิธิ ลดต่ำลงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จาก 18 คนเหลือ 9 คน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับการซื้อขายเด็กผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นได้


70515844_1398204627008724_5329342721075183616_n.jpg

กอบกาญจน์ ระบุว่า ครอบครัวที่ตัดสินใจขายลูกแลกกับเงิน ควรพึงตระหนักว่าคุณอาจได้รับความรู้สึกผิดติดตัวตลอดไป เนื่องจากอาจกำลังส่งลูกไปอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัยทั้งในแง่อาชญากร ปัญหาทางเพศ การค้าประเวณี ยาเสพติด และอื่นๆ 

“ควรปรึกษาหารือกับผู้ที่มีประสบการณ์ หน่วยงานที่จะช่วยให้คุณหาทางออกสำหรับตัวเองได้”

ปัจจุบันมีองค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายในการช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาสำหรับครอบครัวหรือคุณแม่ที่ท้องไม่พร้อม เช่น สหทัย มูลนิธิ , มูลนิธิมิตรมวลเด็ก , มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย , มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา , ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำจังหวัด เป็นต้น 

“การยกมอบเด็กให้กับหน่วยงานเหล่านี้ ต้องให้ข้อมูลของพ่อแม่และเด็กทั้งหมด เพื่อประโยชน์ต่อเด็ก โดยเฉพาะในแง่สุขภาพ”


อยากเลือกหน้าตา

กรนิศ สุดมี หัวหน้างานครอบครัวบุญธรรม สหทัย มูลนิธิ กล่าวว่า การซื้อขายเด็กผ่านโลกออนไลน์ อาจเกิดจากการที่ผู้รับต้องการเลือกเด็กเอง ทั้งหน้าตา ผิวพรรณ รูปร่าง และไม่ต้องการผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งผู้รับจะไม่มีสิทธิเลือกเด็กเองได้ เพียงแต่ระบุความต้องการเท่านั้น เช่น เพศ ช่วงอายุ และเป็นหน้าที่ของมูลนิธิในการคัดสรรเด็กที่เหมาะสมให้กับครอบครัว 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีสายด่วน 1663 สนับสนุนให้คนที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมโทรมาปรึกษา และหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ 1663 พร้อมส่งต่อไปยังเครือข่ายแพทย์ซึ่งมีการรับรองความปลอดภัย

สายด่วน 1663 ให้ข้อมูลกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 61 - 31 สิงหาคม 62 มีผู้รับบริการปรึกษาทางโทรศัพท์ ประมาณ 30,000 กว่าราย โดยตั้งครรภ์แล้ว 20,000 กว่าราย


ต่ำกว่า 20 ปี คลอดเฉลี่ย 8 หมื่นคน/ปี

สำหรับสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน" เมื่อเดือน ม.ค. 2560 นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านวิชาการ เปิดเผยถึงสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ข้อมูลจากกรมอนามัยล่าสุดในปี 2560 พบว่า จำนวนหญิงคลอดอายุ 10-19 ปี 84,578 คน จากจำนวนหญิงคลอดทั้งหมด 656,571 คน คิดเป็น 12.9%

เมื่อแยกเป็นกลุ่มหญิงอายุ 10-14 ปี พบคลอด 2,559 คน คิดเป็น 1.3 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงอายุ 10-14 ปีทั้งหมด 

หญิงอายุ 15-19 ปี คลอด 82,019 คน คิดเป็น 39.6 ต่อ 1,000 ประชากรหญิง 15-19 ปีทั้งหมด 

โดยจังหวัดที่มีอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี มากกว่า 50ต่อ 1,000 ประชากร ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ตาก ชลบุรี ระยอง นครนายก และสมุทรสาคร


70512573_1398195810342939_4730694081821278208_n.jpg


ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Red Skull Tour