ที่ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 17 ส.ค. 2563 มีการไต่สวนวันแรก เรื่องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และตัวแทนบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นพยายานขออนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการฯ และผู้จัดทำแผน ซึ่งมีผู้คัดค้านคือเจ้าหนี้ 16 ราย
โดยในช่วงการไต่สวน ทนายความฝั่งเจ้าหนี้ ได้มีการสอบถามพยานในประเด็นคุณสมบัติของบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการธุรกิจการบิน และไม่เคยบริหารงานธุรกิจระดับแสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดูแลแผนฟื้นฟูกิจการให้กับบริษัท สหฟาร์ม จำกัด แต่ก็ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นคนละบริษัทกับบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส ที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงสอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการจ้าง บริษัท อีวายคอร์ปอเรทฯ เป็นจำนวนเงินเท่าใด และมีการสอบถามในประเด็นที่หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะมีการขอขยายระยะเวลาอีกหรือไม่
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะพยานปากแรก กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริษัท อีวายคอร์ปอเรทฯ มีคณะทำงาน และการตรวจสอบบริษัทฯ ก่อนที่จะให้เข้ามาร่วมดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีความโปร่งใส และเห็นว่าบริษัทฯ มีประสบการณ์การดำเนินการแผนฟื้นฟูกิจการ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจการบิน และยอมรับเพราะเป็นเรื่องที่ตั้งขึ้นมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นรักษาการดีดีการบินไทย
ทั้งนี้ ชาญศิลป์ ยอมรับว่า ในประเด็นที่เจ้าหนี้สอบถามว่าหากไม่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะขอขยายเวลาในการฟื้นฟูกิจการต่อไปอีก หากศาลสามารถให้ต่อระยะเวลา
ด้านปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีรายชื่อเป็นผู้บริหารแผน ในฐานะพยานปากที่ 2 ยอมรับว่า การว่าจ้าง บริษัท อีวายคอร์ปอเรทฯ เข้ามาร่วมดำเนินการ ตนได้รับรายงานเรื่องการคัดเลือกบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ เข้ามาเป็นคณะผู้ทำแผน ส่วนกรณีมีการตั้งคำถามว่าบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ เป็นคนละบริษัทที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และมีเครือข่ายระดับโลก ตนยอมรับว่าทราบข้อมูลนี้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าได้มีการจ่ายเงินว่าจ้างบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ งวดแรกเป็นจำนวน 22 ล้านบาท และหลังจากนั้นชำระเดือน 15 ล้านบาท จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิจารณาให้การบินไทยดำเนินการแผนฟูกิจการฯ
ทั้งนี้ เบื้องต้นศาลยังไม่ได้มีการพิจาณาว่าจะให้การบินไทยควรได้รับการฟื้นฟูกิจการ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอหรือไม่ ซึ่งได้มีการนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องเพิ่มเติมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น. และนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้คัดค้านในวันที่ 25 ส.ค. 2563 แต่ทั้งนี้หากพยานฝ่ายผู้คัดค้านสามารถมาให้การไต่สวนได้ในวันที่ 20 ส.ค. 2563 ได้ครบถ้วน ก็จะยกเลิกในวันที่ 25 ส.ค. 2563 ส่วนวันพิพากษาจะแจ้งให้ทราบอีกหลังภายหลังที่มีการไต่สวนเสร็จสิ้นตามกระบวนการ
ทั้งนี้ ชาญศิลป์ได้เปิดเผยภายหลังการไต่สวนว่าวันนี้ว่า ยังมั่นใจศาลจะพิจารณาให้การบินไทยได้รับการฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ เนื่องจากเจ้าหนี้มากว่า 100 รายซึ่งมีมูลหนี้มากกว่า 1 แสนล้านทำหนังสือให้การสนับสนุนการบินไทย และบริษัท อีวายคอร์ปอเรทฯ เป็นผู้ร่วมจัดทำแผน
ซึ่งในส่วนของบริษัท อีวายคอร์ปอเรทฯ ที่ถูกซักค้านในเรื่องของคุณสมบัติ และการว่าจ้าง ชาญศิลป์ ยืนยันว่า มีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของการบินไทย และมีการขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามข้อกำหนดของศาลล้มละลายกลางอย่างถูกต้อง และพร้อมยืนยันว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีเครือข่าย มีพาร์ตเนอร์ประกอบธุรกิจในไทย
ส่วนประเด็นที่ไม่มีความชำนาญด้านการบริหารธุรกิจการบินในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีธุรกิจสายการบินต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แต่ยืนยันว่า มีผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน รวมถึงด้านการบินเข้ามาอยู่ในขณะจัดทำแผนฟื้นฟูนี้อยู่แล้ว
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้หากศาลตัดสินให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผน และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีเวลา 1 เดือนให้เจ้าหนี้แจ้งมูลหนี้ผ่านระบบออนไลน์ของกรมบังคับคดี และจากนั้น 14 วันจะให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มร่วมประเมินแผนฟื้นฟูกิจการระยะแรกให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม การบินไทยพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลแม้ว่าจะออกมาในทิศทางใดก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :