ไม่พบผลการค้นหา
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ไขข้อข้องใจในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การคลายล็อกให้ทำมาหากิน และการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ฟังถึงกระแสในเฟซบุ๊กว่าช่วงนี้มีคนเข้ามาคอมเมนต์แสดงความวิตกกังวลกับการรับสถานการณ์โรคระบาดโควิดของรัฐบาลหลายคน มีคำถามหลายข้อที่ถามตน และถามไปถึงรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากความทุกข์ ความกลัว ทั้งกลัวติดโรค ติดแล้วรักษายังไง รักษาฟรีไหม และกลัวอดตาย หยุดงานมาหลายวัน ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย แล้วทุกอย่างจะจบเมื่อไหร่ จะคุมการระบาดยังไง ฯลฯ ‘วอยซ์ออนไลน์’ จึงขอเป็นตัวแทนคนไทย ถาม-ตอบ หลายประเด็นที่คนสงสัยกับคุณหญิงสุดารัตน์

ด่านตรวจ-จุดตรวจ-โควิด19-ราชพฤกษ์

คำถาม: พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน จะมีการต่ออายุอีกไหม?

คำตอบ: ในมุมมองของคุณหญิงสุดารัตน์ เห็นว่าควรต้องจบ เพราะจริงๆ แล้วตามแผนที่พรรคเพื่อไทยเสนอยุทธกาลปูพรม 21 สยบโควิด ต้องการให้จบก่อนสงกรานต์ เพราะว่าหลังสงกรานต์แล้วส่วนใหญ่ฝนตก ฝนตกแล้วการควบคุมโรคก็ยากขึ้นไปอีก แต่เมื่อไม่ไม่ทำตามเวลาที่เสนอไปก็ไม่เป็นไร ยังเริ่มทำได้ โดยสิ่งที่สำคัญ คือ การคุมการระบาดต้องให้เร็วที่สุด ถ้าไม่เร็ว คนป่วยมากขึ้น ต่อให้ระบบสาธารณสุขไทยจะเก่งแค่ไหน ก็รองรับไม่พอ และจะเป็นภาระให้บุคลากรทางการแพทย์อีกมากมาย รวมไปถึงห้องรักษาพยาบาลไม่พอ เครื่องมือไม่พอ อีกทั้งถ้ายิ่งยืดเยื้อ ยิ่งช้าเท่าไหร่ เศรษฐกิจยิ่งทรุด ยิ่งสาหัส คนจะยิ่งเหนื่อยมากขึ้น ประชาชนก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องสยบให้เร็วที่สุด

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคำสั่งปิดโน่นปิดนี่ ปิดเมือง ปิดสถานประกอบการ แต่ปิดแล้วไม่คุ้นหาผู้ติดเชื้อ ไม่หยิบผู้ติดเชื้อออกจากสังคมเข้าสู่ระบบในการกักตัว ผู้ติดเชื้อก็ยังเผยแพร่เชื้อได้อยู่ เนื่องจาก 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดเชื้อ มีอาการน้อยมากแต่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย ดังนั้นจึงต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด แล้วก็กักตัว

ทำไมถึงปิดอย่างเดียวไม่พอ? เพราะจากสถิติผู้ติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงถึงวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา จะเห็นว่าสาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่คือร่วมบ้าน ในกรุงเทพมหานคร ผู้ติดเชื้อจากผู้ร่วมบ้านกัน 35 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในที่เดียวกันเช่นที่ทำงาน 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเอาสถิติ 2 ตัวนี้มาบวกได้ 51 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ต่างจังหวัด ผู้ร่วมบ้านติดเชื้อกัน 49 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไปสังสรรค์เข้าสังคมข้างนอกที่ถือว่าฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเป็นเพียงแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ สถิติตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าการร่วมบ้านร่วมที่ทำงานกันทำให้ติดเชื้อได้มากที่สุด ดังนั้นจะมัวแต่ปิดโน่นปิดนี่ แต่ไม่ยอมหยิบผู้ติดเชื้อใหม่เข้าระบบไม่ได้ ต้องมีการนำคนป่วยก็ไปรักษา คนไม่ป่วยก็เข้าไปกักตัวอยู่ในโรงแรมอยู่ใต้การดูแลของสาธารณสุข แบบนี้ ถึงจะทำให้คนข้างนอกปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการตรวจหาเชื้อผู้ติดเชื้อในแสนคน ประเทศไทยตรวจอยู่ที่ 26 คนต่อแสน ซึ่งน้อยกว่ามาเลเซีย น้อยกว่าเวียดนาม ฮ่องกง หรือน้อยกว่าในภูมิภาค ตรงกันข้ามกับหลายประเทศเช่น ฮ่องกงที่เป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ เหมือนไทย แต่เขาก็สยบลงตัวเลขนิ่งขึ้น ตอนแรกตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พุ่งสูง เช่นเดียวกัน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ใช้วิธีเดียวกัน หรือแม้กระทั่งบิล เกตส์ ก็วิจารณ์เรื่องของสถานการณ์ในสหรัฐว่าท้ายที่สุดต้องจบที่การตรวจให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการนี้คือวิธีการที่ง่ายที่สุด

ไวรัส แพทย์ โคโรนา โควิด-19.jpg

คำถาม: ศบค. แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันมีจำนวนน้อยลง เราวางใจได้แล้วใช่ไหม?

คำตอบ: “แม่ก็ภาวนาว่ามันจะเป็นตัวเลขจริงนะ เพราะว่านั่นหมายถึงสัญญาณที่ดี เมื่อมีสัญญาณที่ดีแล้ว รัฐบาลก็น่าจะไปที่ขั้นที่สอง คือเริ่มเปิดให้คนทำมาหากินได้โดยเฉพาะคนตัวเล็ก โดยรีบวางกฎเกณฑ์ทางด้านสาธารณสุขเป็นข้อบังคับเสีย” คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบ

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดเผยว่าช่วงที่ผ่านมามีแพทย์หลายคนโทรมาเล่าและปรึกษาปัญหาในการทำงานให้เธอฟัง โดยส่วนใหญ่จะบ่นว่าตรวจได้น้อย เนื่องมาจากเบิกเงินค่าตรวจจากรัฐบาลยาก กฎเกณฑ์เยอะ ทั้งที่เขาก็มีความรู้สึกว่าเขาอยากตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เยอะ ชาวบ้านจะได้ปลอดภัย แล้วบางจังหวัดก็ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้เป็นอย่างดีเพื่อที่จะควบคุมโรคในจังหวัดให้จบ แต่พอมาเจออย่างนี้หลายคนก็เหนื่อย 

คุณหญิงสุดารัตน์ ถามนำว่า ที่นี้ถามว่าตรวจฟรีหรือเปล่า? เขาก็ประกาศนะว่าตรวจฟรี แต่พอมาดูเงื่อนไขการตรวจที่รัฐประกาศคือให้ตรวจฟรี แต่ว่าเงื่อนที่จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลตรวจมีเยอะมาก แปลว่าโรงพยาบาลถ้าตรวจโดยไม่เข้าเงื่อนไขครบ รัฐก็จะไม่จ่ายเงิน มันจะกลายเป็นว่าทำให้โรงพยาบาลตรวจน้อยลง โดยเงื่อนไขคือ กลุ่มที่หนึ่งต้องมีประวัติเสี่ยงอย่างใด้อย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน เช่น ไปในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโควิด ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ไปสถานที่ชุมชน หรือสัมผัสผู้ป่วย ประกอบกับเงื่อนไขที่ 2 คือ คุณต้องมีอาการไข้สูง 37.5 ขึ้นไป ซึ่งคนที่เป็นโควิด หลายคนวัดไข้ไม่เคยถึง 37.5 ก็มีแต่เขาติดโควิด อีกทั้งยังต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ

“อันนี้เป็นความไม่สบายใจของหมอ เขารู้หลักเกณฑ์ว่าเขาจะต้องตรวจให้ได้มากที่สุด พอเขาเห็นเกณฑ์นี้เขาหงายหลังเลย เขาบอกว่าเขาจะต้องทำยังไง อีกหน่อยอาจจะต้องมีอะไรนะ ไม่ใช่รับบริจาคหน้ากากอย่างเดียว รับบริจาคค่าตรวจโควิดหรือเปล่า” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ขอเสียงหน่อย ปิดร้าน เศรษฐกิจ ธุรกิจ ร้านค้า โควิด

คำถาม: แล้วเมื่อไหร่ ชาวบ้านจะกลับไปทำมาหากินได้?

คำตอบ: ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "เร็วที่สุด" ถ้าเป็นตนทำจะเร่งทำแบบนี้คือ ตอนนี้แต่ละจังหวัดก็มีมาตรในจังหวัดและปิดการสัญจรระหว่างจังหวัดอยู่แล้ว เป็นวงๆ ถ้าข้ามจังหวัดต้องลงทะเบียน เพราะฉะนั้นเราก็คลุมในจังหวัด หาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด เอาคนติดเชื้อเข้ามาเก็บในระบบกักตัวในโรงแรมต่างๆ ที่สาธารณสุขจังหวัดจัดหาให้ เพื่อให้คนข้างนอกปลอดภัยภายใน 1 สัปดาห์ให้จบ และออกมาทำมาหากินภายใต้กฎเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ เช่น ร้านอาหารต้องนั่งห่างกันเมตรครึ่ง เคยรับลูกค้าได้ 50 เหลือ 25 คน ถ้าคุณทำเกินกว่านี้จะถูกสั่งปิดปิด หรือสั่งปรับ

ทุกคนที่ออกมาข้างนอกต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องมี Social Distancing และต้องล้างมือบ่อยๆ คนตัวเล็กก็จะเริ่มทำมาหากินได้ โดยที่ยังล็อกจังหวัดล็อกไป แต่กิจกรรมภายในจังหวัดเกิด เมื่อเกิดขั้นที่หนึ่งเกิดได้ จังหวัดนี้คุมได้ จังหวัดข้างๆ ก็คุมได้ ก็เริ่มปล่อยให้ทำมาหากินข้ามจังหวัด เริ่มปล่อยให้ทำมาหากินต่อกันไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจมันถึงจะกลับมาได้ ขณะเดียวกันตอนนี้ร้านค้าเล็กๆ ปิด คนก็ต้องไปเข้าร้านสะดวกซื้อหรือสั่งซื้อของจากห้างใหญ่ๆ ก็เท่ากับเงินของเราหมุนเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และตัดโอกาสคนตัวเล็ก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งคุมโรคและผ่อนให้คนตัวเล็กกลับมาทำมาหากินได้ แล้วถ้ายิ่งปิดแล้วไปแจก 5,000 เนี่ย ก็จะคล้ายๆ กับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน คือ ต้องไปซื้อในห้าง ต้องไปซื้อในร้านสะดวกซื้อ ร้านเล็กๆ ก็ไม่ได้เงินตรงนี้เข้าไปหมุน เศรษฐกิจฐานรากก็แย่

ดังนั้นการเยียวยาบวกกับการควบคุมโรคให้เร็ว ควบคุมการระบาดให้เร็ว เริ่มให้คนตัวเล็ก เปิดทำมาหากินได้บ้าง คือสิ่งที่ต้องเร่งทำภายใต้เงื่อนไขอย่างเคร่งครัดตามหลักการสาธารณสุข หลายกิจการอาจจะยังเปิดไม่ได้ก็อธิบายให้เขาเข้าใจ อย่างเช่น สนามมวย หรือผับ แล้วก็ชดเชยให้กิจการเหล่านี้ ชดเชยให้เป็นค่าจ้างพนักงาน ไม่ให้คนตกงาน สถานประกอบการเหล่านี้ก็จะพออยู่ได้ แล้วพอควบคุมโรคให้ดีอีกระดับหนึ่ง ให้อยู่ตัวก็พอเปิดได้ แต่หลายอย่าง 80 เปอร์เซ็นต์ ของกิจการที่ถูกสั่งปิดสามารถเปิดได้ คนกลับมาทำมาหากินได้ คนตัวเล็กสามารถมีรายได้บ้าง ก็จะทำให้ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจมันน้อยลง เพราะในเมื่องบประมาณรัฐยิ่งน้อยการใช้เงินทำนโยบาย 1 อย่างก็ต้องให้มันได้ผลหลายๆ ด้าน

ส่วนการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ตนเห็นว่าการเข้าถึงและเกณฑ์การพิจารณายังไม่ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทั้งหมดจริงๆ ถึงวันนี้หลายคนยังตอบไม่เลยว่าที่ไปลงทะเบียนกัน 21-22 ล้านคน จะได้ 9 ล้านคนจริงไหม แล้วใครได้บ้าง แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่างบประมาณนี้เป็นการเยียวยาสั้นๆ รัฐบาลต้องรีบจัดการการระบาดให้เร็วที่สุด ตนได้ยินข่าวว่าคือรัฐบาลจะต่อไปแบบนี้ไปอีก 6 เดือน คือออกมาข้างนอกไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ ตนรู้สึกตกใจ เพราะไม่จำเป็นต้องเยียวยา 6 เดือน แต่ต้องเยียวยาสั้นที่สุดแล้วให้ ประชาชนกลับไปทำมาหากินให้เร็วที่สุด อีกทั้งมาตรการนี้ รัฐบาลยังทำไม่ครบ คือแจกเงินเยียวยา แต่ยังไม่พักชำระหนี้ หลายคนพอได้เงินเข้าบัญชีมาธนาคารก็ตัดหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้ต่างๆ ไปแล้วโดยที่เงินยังไม่ถึงมือ เนื่องจากรัฐบาลค่อยๆ ทำทีละเรื่อง พอไม่ออกเป็นแพ็กเกจมันก็เป็นปัญหาเหมือนลิงแก้แห

ครม.-รัฐบาล-โควิด19

คำถาม: รัฐบาลมีมติจะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจะต้องเป็นหนี้อีกแล้วหรือ?

คำตอบ: คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบว่า "มันอาจจำเป็นจะต้องกู้" แต่จะกู้มากกู้น้อยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถสยบการระบาดได้เร็วแค่ไหน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมากแค่ไหน แต่ก่อนจะกู้ เราต้องใช้เงินที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพคือ ใช้งบกลางในการควบคุมการระบาด, ระบบสาธารณสุข, ให้แพทย์-พยาบาล-บุคลกรการแพทย์ และระบบการรักษา ซึ่งตรงนี้อาจนำงบกลางไปบวกกับการเกลี่ยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 พร้อมย้ำว่าสามารถเอางบประมาณส่วนนี้ไปตรวจหาติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยจากตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ละจังหวัดมีกลุ่มเสี่ยงประมาณ 5,000 คน 77 จังหวัดก็จะเท่ากับ 380,000 คน โดยใช้งบ Screening test ไม่เกินคนละ 1,000 บาท ก็ใช้แค่ 3,800 ล้านบาทเท่านั้น 

ส่วนงบประมาณก้อนที่สอง ที่เอามาเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ต้องเยียวยาในช่วงสั้นที่สุด เยียวยาคนที่เดือดร้อนจริงๆ ตนเห็นได้ข่าวแว่วๆ มาว่าทางกองทัพบอกว่ายินดีที่จะตัดงบการซื้ออาวุธ อันนี้ถ้าเป็นจริง ตนเห็นด้วยและสรรเสริญ พร้อมแนะนำว่ายกเลิการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างสัก 3 ปี เพราะยังไม่มีสงครามอะไรและยังต้องรบกับโรคโควิดอีกเป็นปี ตัดงบประมาณดูงานต่างประเทศ งบประมาณสร้างอาคารใหม่ และงบประมาณซื้อรถประจำตำแหน่ง หรืองบอื่นๆที่ไม่จำเป็น ซึ่งปีนี่ก็เหลือการใช้งบอีกแค่ 5 เดือนกว่าเท่านั้น จึงแนะนำให้ตัดงบประมาณทุกกระทรวง 10 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้รวม 3-5 แสนล้านบาท

แล้วก้อนสุดท้ายคืองบประมาณที่จะเอามาฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงค่อยกู้ และฝ่ายค้านจะยินดียกมือสนับสนุนในสภา หากมีแผนโครงการที่ชัดเจน ไม่ใช่อย่างตอนนี้ที่มีแผนจะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ 600,000 ล้านบาทเอามาเยียวยาประชาชน และอีก 400,000 ล้านบาทเอามาฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยังไม่มีโครงการอะไรชัดเจน แต่จะกู้แล้ว ตนจึงของให้กลับไปเกลี่ยงบประมาณปี 2563-2564 ให้ดีก่อน พร้อมทั้งขอฝากไว้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าใช้เรื่องการแจกเงินอย่างเดียว เพราะเงินมันจะหมุนแค่รอบเดียวโดยเฉพาะถ้าแจกแล้วยังปิดกิจการของคนตัวเล็ก มันจะหมุนขึ้นไปคนตัวใหญ่ข้างบนหมด การใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ในชนบท เกิดการสร้างรายได้ใหม่ จึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

“ถามว่ากู้ไหม ต้องกู้ แต่ก่อนกู้ไปใช้งบกลางให้มีประสิทธิภาพไปตัดงบ 63-34 ให้จบ เหลือค่อยไปกู้ เพราะเงินกู้ไม่ใช่เงินได้ฟรี เงินกู้ พลเอก ประยุทธ์ ไม่มีชีวิตอยู่พอที่จะได้ใช้เงินกู้ แต่ลูกหลานเราต้องใช้ ทุกเม็ดเงินต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วไม่เห็นด้วยเลยกับการที่วันนี้ยังไม่เห็นรูปธรรมของการตัดงบของปี 63 และการเกลี่ยงบปี 64 ขอความชัดเจนตรงนี้ก่อน แล้วฝ่ายค้านยินดีค่ะ” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

สุดท้าย คุณหญิงสุดารัตน์ ฝากว่า โควิดอาจจะเป็นวิกฤต แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่สังคมไทยจะกลับไปสู่สังคมแห่งการแบ่งปัน เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนรอบๆ เราอ่อนแอ เราก็จะติดโรค ในโลกตอนนี้ ไม่มีประเทศไหนยืนต่อสู่กับโควิดได้ประเทศเดียว และหลังจากนี้ก็จะมีความร่วมมือในโลกหลังการระบาดของโควิด สงครามการค้าและกำแพงภาษีจะต้องทลาย เพราะต้องช่วยเหลือกัน คนอื่นแย่ก็ไม่มีคนซื้อของเรา อีกทั้งโลกยุค Disruption ถูกเร่งอัตราโดยโควิด คนต้องปรับตัว เช่น การค้าขาย การประกอบอาชีพ แต่อย่างแรกคือต้องทำร่างกายให้แข็งแรงอย่าติดโรค, ทำจิตใจให้เข้มแข็ง เดินหน้าทำมาหากิน, ปรับทัศนคติตัวเองให้เอื้ออาทรต่อกัน และที่สำคัญปรับตัวให้เข้ากับ Disruption มองให้เห็นโอกาสให้โลกใหม่ให้กลายมาเป็นโอกาสของตัวเอง