ไม่พบผลการค้นหา
'ภาคี Save บางกลอย' จัดกิจกรรม ครบรอบ 8 ปี นโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' ชี้เป็นนโยบายอัปยศ ลั่นกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องถูกอภิปรายเรื่องงบประมาณ

เวลา 17.00 น. วันที่ 14 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ได้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรมชูป้าย และอ่านแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิแก่กลุ่มคนชาติพันธุ์ และผู้คนชาวบางกลอยที่ถูกไล่ที่หลังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 หรือคำสั่ง 'ทวงคืนผืนป่า' 

พชร คำชำนาญ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2557 หลังการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งทวงคืนผืนป่า เพื่อพี่น้องคนในเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การปฏิบัติการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในพื้นที่ที่พี่น้องที่อยู่ในเขตป่า 

LINE_ALBUM_220614_2.jpg

พชร กล่าวอีกว่า พวกเขาถูกตัดพืชผล ถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ บางรายชีวิตล่มสลาย บางคนฆ่าตัวตาย บางคนอุ้มหาย ตั้งแต่ปี 2557 ที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า จนถึงวันนี้มีพี่น้องถูกดำเนินคดี 46,000 คดี ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติที่พี่น้องอยู่มาก่อน แต่รัฐไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศพื้นที่ป่าสงวน ทับหัวพวกเขา และกล่าวหาว่าพวกเขาคือ ผู้บุกรุกป่า 

"วันครบรอบ 8 ปี โดยรัฐบาลอัปยศ พวกเรามาเรียกร้อง ตั้งคำถามกับคนในเมือง ว่านโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อพี่น้องในเมืองจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราเห็นพี่น้องชาติพันธุ์ต้องตายทั้งเป็น" พชร กล่าว 

พชร เสริมว่า นโยบายทวงคืนผืนป่านั้น เป็นมรดกของสงครามเย็นตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การประกาศอุทายแห่งชาติเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อรักษาผืนป่า แต่เป็นเพียงแค่การตอบสนองคนชนชั้นกลาง และถืออำนาจของคนในประเทศนี้เท่านั้น 

ภาคี Save บางกลอย'.jpg

พชร กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีแค่เรื่องการอภิปรายในสภาฯ เรื่องน้ำมันรั่วในระยอง แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับรากเหง้ามันต้องมีการอภิปรายในส่วนงบประมาณ และส่วนที่สองคือ ถึวเวลาที่ต้องทบทวนว่า ตลอด 8 ปีการทวงคืนผืนป่า ทวงได้เท่าไหร่ มีชาวบ้าน ไม่มีที่ดินทำกินเท่าไหร่ นายทุนเท่าไหร่ สุดท้ายถอดมาว่า นโยบายสร้างผลกระทบ ไม่ได้สร้างพื้นที่ป่า ถึงเวลาที่ต้องสังคยนาใหม่ โดยต้องใช้กลไกของฝ่ายค้าน พระกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 

นอกจากนี้ยังได้มีแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีเซฟบางกลอย ใจความว่า ผืนดินลุกเป็นไฟ ป่าเขาที่เคยร่มเย็นเข้าใกล้คำว่าขุมนรก หลังรัฐบาลทรราชย์นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันที่ 14 มิถุนายนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รัฐบาลเผด็จการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ นโยบายทวงคืนผืนป่า กล่าวอ้างว้าจะทวงคืนผืนป่าจากนายทุน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ หรือ แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ

ภาคี Save บางกลอย'.jpg

นโยบายที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าถูกรัฐประกาศทับ อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกิน และถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปี มีคดีความเพิ่ม 46,000 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิดว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนักการเมือง และนายทุนอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่ประชาชนคนจน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องสูญเสียที่ดินและตายทั้งเป็น กี่ชีวิตแล้วที่ต้องล้มสลายไปเพราะนโยบายเผด็จการ 

ในวาระครบรอบ 8 ปี นโยบายอัปปยศของรัฐบาลอัปยศ พวกเราขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อมที่อิงแอบอำนาจเผด็จการทหารในการสร้างกฎหมายและนโยบายปกครองป่า และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้ 

1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย และนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด และเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามีผู้ถูกกดขี่ และผู้อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง 

2.สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบงบประมาณ และแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งในการสนองความปรารถนาของชนชั้นปกครองที่อยากมีตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์

3.ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายจากการดำเนินการนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน โดยใช้ระบบลูกขุนในการไต่สวนพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และคดีเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยการปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน 

4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวต้นเรื่องต้องลาออก และเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อคืนสิทธิสู่ประชาชนอย่างแท้จริง

ภาคี Save บางกลอย'.jpg

เราขอย้ำว่า 8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองไม่เคยได้ป่า มีแต่คราบน้ำตาของประชาชน มันคือ 8 ปีแห่งความทุกข์ หาใช่ความสุขตามที่เขาหลอกลวง และเรายืนยันว่าจะต้องถอดรื้อ และปลดแอกมรดกของสงครามเย็น และมรดก คสช. ทั้งหมดออกจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ หลังจากนี้เราจะเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความเป็นธรรม ให้เหยื่อทวงคืนผืนป่า และทวงคืนที่ดินสู่ราษฎรต่อไป 

ภาคี Save บางกลอย 14 มิถุนายน 2565 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

ภายหลังการอ่านแถลงการณ์เสร็จ ได้มีการจัดทำป้ายกระดาษให้ประชาชนมาร่วมแปะสติ๊กเกอร์ในหัวข้อโพลว่า 'คุณคิดว่าคนอยู่กับป่าได้ไหม ?' และมีการขวนป้ายระบุข้อความ ทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน ขณะที่ระหว่างการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ปทุมวันเข้าสังเกตการณ์ความเรียบร้อยอีกด้วย