วันที่ 9 ธ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีกล่าวหา บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีทุจริตสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี หรือจำนำข้าวภาค 2 ว่า ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 71 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นพวกนักการเมือง และข้าราชการทางการเมือง อาทิ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า บุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้ถูกกันชื่อไว้เพื่อเป็นพยานในคดี พร้อมกับบริษัทเอกชนบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับ อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า จากเดิมจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเอกสารคดีทุจริตจำนำข้าวมีจำนวนเป็นหมื่นหน้า และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องแสกนเอกสารทุกหน้า จึงต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ไปแสกนข้อมูลแล้วกลับนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อที่จะได้พิจารณาและให้ความเป็นธรรมอย่างเต็ม รอบคอบ โดยจะเข้าสู่ที่พิจารณาอีกครั้งภายหลังพิจารณาคดีซื้อขายมันเส้นแบบรัฐต่อรัฐในอีก 3 สำนวน ได้แก่ 1.กรณีกล่าวหา พรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก 2.กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก และ 3.กรณีกล่าวหานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ข่าวออกไปว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาคดีนี้ ผู้ร้องก็มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงต้องมาพิจารณาเรื่องการให้ความเป็นธรรม เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณา และต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการประวิงเวลาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงนี้เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ป.ป.ช. จะถูกมองเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งของการเมืองหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า บางคนอาจจะมองไปเช่นนั้นได้ ถ้า ป.ป.ช.ตอบสังคมได้ด้วยข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเราก็ไม่หวั่น เพราะต้องการให้การไต่สวนคดีเสร็จทุกเรื่อง จะเห็นว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน เพียงแต่ขอให้มีพยานหลักฐาน ทั้งนี้ ต้องตระหนักก่อนว่า ป.ป.ช.ถือว่ายังเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ยังต้องไปสู่กระบวนการอัยการและศาลอีก ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ อย่าเพิ่งไปมองว่าเขาผิด
"ยืนยันว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมและพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.จะต้องถูกย้อนโดยการถูกฟ้อง อย่างที่ผ่านมาตนและกรรมการ ป.ป.ช.ถูกฟ้องมาหลายเรื่องแล้ว" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า คดีของนักการเมืองระดับชาติที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.นั้น จะเห็นได้ว่า ในระยะหลังนี้ ป.ป.ช.ทำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องเก่า และเรื่องใหม่ บางครั้งในสภา ป.ป.ช.จะถูกกล่าวหาว่ากลั่นแกล้งนักการเมืองหรือไม่ ทำไมในอดีตมีความล่าช้า แต่ทำไมปัจจุบันทำเร็ว นั่นเป็นเพราะ ป.ป.ช. ปรับระบบการทำงาน โดยทำในระบบ 2 ลู่ คู่ขนานกันไปทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ แต่ถึงแม้จะทำเร็วก็มีประเด็นเกิดขึ้นอีกว่างานกระบวนการยุติธรรม สิ่งสำคัญคือต้องให้ความเป็นธรรม เป็นกลาง หากมีพยานหลักฐานต้องดำเนินการตามขั้นตอน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตทุกปีแต่ตัวเลขทุจริตยังไม่ลดลง ว่า คดีทุจริตไม่เหมือนคดีอาชญากรรม เพราะมีเรื่องร้องเรียนเยอะ เมื่อตรวจสอบบางทีเรื่องที่รับไม่ได้เกิดในปีนี้ มีเกิดบ้างเพียง 10-20 % บางเรื่องเกินย้อนหลังไป 5-10 ปี บางเรื่องมาร้องก็ขาดอายุความ ตอนนี้ ป.ป.ช. มีข้อมูลหมดว่าเรื่องที่มาร้องในปีนี้เป็นเรื่องอะไร ความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ทำให้เราตระหนักว่าบางทีพี่น้องประชาชนที่เค้ารับรู้เรื่องนี้ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อมาร้องแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการได้หรือไม่ ถ้าดำเนินการไม่ได้ก็ยังไม่ร้อง วันดีคืนดีไม่ทราบเหตุผลก็มาร้อง ดังนั้น การดูแต่ตัวเลขว่าปีนี้ร้องเท่าไหร่ไม่ใช่เหตุผลว่าจะมีการทุจริตมาก แต่ต้องดูว่าเกิดเมื่อไหร่ ร้ายแรงแค่ไหน มีข้อมูลเพียงพอหรือไม่
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนกระบวนการทำงานเมื่อมีการรับเรื่องจะตรวจสอบเบื้องต้นและตั้งไต่สวน เรื่องที่รับมา 8,000 กว่าเรื่อง อาจจะรับดำเนินการปีละ 30 กว่าเรื่อง ไม่รับเยอะ บางเรื่องส่งไป ป.ป.ท. ทั้งนี้ หลังจากตรวจการเรื่องกล่าวหา บางทีรับเรื่องไม่ถึง 50% ก็เป็นเรื่องที่เราสามารถดำเนินการไปได้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นว่าจะมีมูลเพียงพอในการไต่สวน มีผู้กระทำผิดชัดเจน บางทีเรื่องร้องเรียนมีแค่ 20% เท่านั้นเอง ดั้งนั้น จึงต้องดูแต่ละขั้นตอน แต่ละเรื่อง แต่ถ้าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องที่กระทบขวัญประชาชน เรื่องร้ายแรง ตอนนี้มี ป.ป.ช. ทั่วประเทศจะเข้าพื้นเกิดเหตุได้เร็วและจะดำเนินการควบคู่ไป ส่วนสาเหตุที่มีความล่าช้าอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเก่าที่สะสมมานาน ในระบบบริหารจัดการที่มีความไม่พร้อม ยังไม่มีการกระจายคนในระดับภูมิภาค แต่ตอนนี้เราพร้อมหมดแล้ว ทั้งเรื่องการกระจายคน หน่วยงาน กระบวนการการทำงาน จะเห็นว่าเรื่องไหนที่สำคัญ ประชาชนสนใจ อย่างเช่นเรื่องวิศวกรที่ฆ่าตัวตาย เพราะไม่ยอมรับรับงานสร้างถนนที่ จ.หนองบัวลำภู เราตั้งไต่สวนเรียบร้อยแล้ว เมื่อเราเข้าได้เร็ว พยานหลักฐานก็ครบถ้วน หากเราสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ประชาชนจะเชื่อมั่น
เมื่อถามว่า ในส่วนเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองสถิติตัวเลขเป็นอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองในระยะหลัง ถ้าเกี่ยวกับนักการเมืองระดับชาติ ป.ป.ช. จะเข้าไต่สวนเร็วมาก เป็นการทำสองทาง เรื่องเก่าก็ทำไป เรื่องใหม่ที่ประชาชนสนใจเราก็จะทำเร็ว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงดัชนีชี้วัดการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ว่า เราไม่ได้คาดหวังว่าค่า CPI เราจะเพิ่มขึ้น เราคิดว่าถ้าแค่คงอยู่ หรือดีขึ้น ก็ดีใจแล้ว เพราะ CPI เป็นเรื่องของการรับรู้ของคนที่มีบทบาทให้คะแนนค่าดัชนี มีคนเกี่ยวข้องมากมาย และคนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ อย่างที่นายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช. ตอกย้ำถ้าทุกส่วนราชการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส อำนวยความยุติธรรม ความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการตามที่เราได้ไปตรวจสอบ ITA บ้านเราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวคะแนน CPI ก็ขึ้นเอง
พล.ต.อ.วัชรพล เสริมว่า เขาเห็นว่าไม่ต้องไปเสียเงินใต้โต๊ะ เขาได้รับการอำนวยความสะดวก ค้าขายสะดวก เดี๋ยว CPI ขึ้นเอง เมื่อวันนี้ยังไม่ขึ้นก็เป็นเชิงประจักษ์ว่าเราต้องพยายามทำตรงนี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่ประกาศ ไม่ทน ไม่ทำ ไม่เฉย แล้วเราไม่ทำอะไรเลย แต่ไม่ทำอะไรที่เป็นเชิงประจักษ์ แต่วันนี้เราพยายามทำสื่อข้อมูล เยอะแยะมาก ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อสื่อสารไปยังองค์กรต่างๆ เพราะบุคคลที่จะมีอิทธิต่อต่อคะแนนเป็นบุคคลต่างชาติ