ไม่พบผลการค้นหา
ผบช.น. ระบุชุมนุม 19 ก.ย.จัดกำลังตามสัดส่วนผู้ชุมนุมและพื้นที่ เพื่อสงบเรียบร้อย ใช้แผนกรกฎ 52 เป็นแนวทางดูแล ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดยมีความพร้อมทั้งเรื่องกำลังและจะใช้แผนกรกฎ 52 เป็นแนวทางดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุม ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิแต่อย่างใด

ทั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินยอดผู้ชุมนุมได้ ซึ่งตำรวจจะพิจารณาจัดวางกำลังตามสัดส่วนของผู้ชุมนุม เบื้องต้นเท่าที่ทราบผู้ชุมนุมขอใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต จึงยังไม่ทราบว่าจะผู้ชุมนุมที่ใด ส่วนพื้นที่สนามหลวง มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต้องขออนุญาตใช้พื้นกับ กทม. ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีขออนุญาตใช้พื้นที่ในการชุมนุมบริเวณอื่นและไม่ว่าจะจัดที่ใดตำรวจก็พร้อมดูแล

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ยังขอความร่วมมือผู้นำการชุมนุม ผู้ชุมนุม ปฎิบัติตามมาตรการควบคุมโรค พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.การชุมนุม ตำรวจมีความห่วงใย หากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากล้นออกมานอกพื้นที่ อาจกระทบปัญหาการจราจร ซึ่งตำรวจได้ประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางช่วงใกล้การชุมนุมอีกครั้ง โดยจะตั้งจุดคัดกรองรอบพื้นที่การชุมนุม 4 จุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจะตรวจค้นอาวุธ ตรวจวัดอุณหภูมิ ขอผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือในการดูแลความสงบเรียบร้อย หากมีการเคลื่อนขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล ขออย่าเคลื่อนแบบสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น หรือละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุม ซึ่งตาม พ.ร.บ.การชุมนุม มีข้อกำหนดว่า ห้ามผู้ชุมชุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ราชการสำคัญในรัศมี 50 เมตร

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาตำรวจได้ระดมกวาดล้างอาชญากรรม ตรวจค้นจุดต้องสงสัยเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือมือที่สาม เบื้องต้นจากการข่าวยังไม่พบเรื่องน่าเป็นห่วง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรงให้ปฎิบัติกับผู้ชุมนุมเหมือนลูกหลาน และควบคุมการชุมนุมให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เชื่อว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบ เรียบร้อย ตามที่ผู้นำชุมนุมมีการแถลงไปก่อนหน้านี้


4 ขั้นตอนปฏิบัติ 'แผนกรกฎ52'

โดยแผนกรกฎ 52 มี 4 ขั้นตอนคือ

ขั้นแรก คือ ขั้นตอนเตรียมการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการตั้งหน่วย หรือชุดเฉพาะกิจ ขึ้นมาสนับสนุนตามแผน พร้อมฝึกอบรมกำลังพล มีการซักซ้อม จัดหาอุปกรณ์ เตรียมเคลื่อนพลเข้าปฏิบัติภารกิจ และจะมีการเตรียมสถานที่ควบคุม สอบสวน ผู้ที่กระทำผิดด้วย

ขั้นตอนที่ 2 ในกรณีเผชิญเหตุ ตำรวจท้องที่จะเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย กันคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย และเจรจาต่อรองกับแกนนำจากเบาไปหาหนัก พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ และระบุว่ามีการทำผิดกฎหมายข้อใด มีอัตราโทษอย่างไร ให้ผู้ชุมนุมได้ทราบ และอาจร้องขอต่อศาล ให้สั่งผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย ให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ขั้นตอนที่ 3 หากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต และจำเป็นต้องใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ ที่เกิดจากการเจรจา ที่ไม่เป็นผล และสถานการณ์รุนแรงขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และทางราชการ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ก็จะพิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าควบคุม แก้ไขสถานการณ์ แต่หากเหตุการณ์บานปลายออกนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปยังต่างจังหวัด ก็จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์

แต่การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ จะต้องสมควรแก่เหตุด้วย ไม่กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยจะมี 10 ลำดับขั้นตอน ตั้งแต่การแสดงกำลังของตำรวจ การใช้คำสั่งเตือน การจับกุมด้วยมือเปล่า ใช้มือจับล็อกบังคับ การใช้เครื่องพันธนาการ หรือปืนตาข่าย การใช้คลื่นเสียง ใช้น้ำฉีด ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์เคมี อย่างก๊าซน้ำตา สเปรย์พริกไทย การใช้กระบอง หรืออุปกรณ์ในการตี และวิธีการสุดท้ายในการใช้กำลังแก้ไขสถานการณ์ คือ การใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น กระสุนยาง หรืออุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็อาจถึงขั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ หรือประกาศกฎอัยการศึก

ขั้นตอนสุดท้ายของแผนกรกฎ 52 คือ การฟื้นฟู เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะมีการสอบสวน ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และบูรณะทรัพย์สินของราชการที่ได้รับความเสียหายตามที่ได้รับการร้องขอ