ไม่พบผลการค้นหา
อดีต กกต. โพสต์ชำแหละสำนวนยุบพรรคอนาคตใหม่คดีกู้เงิน 191 ล้าน ยืนยันสำนวนยุบพรรคของจริง แต่ชี้ขั้นตอนผิดปกติ กกต.ได้รับสำนวนจากคณะกรรมการสืบสวนเร่งยุบพรรคใน 8 วัน ไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีแจงก่อน แถมเพิ่มข้อหา ม.62 และ ม.72

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงเอกสารสำนวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู้เงิน 191 ล้านบาท โดยระบุว่า เอกสารสำนวนคดีพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเผยแพร่ทั่วไป มีจำนวน 49 หน้า

แยกเป็น 6 รายการคือ 1) รายงานการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2562 จำนวน 18 หน้า (สรุปจากสำนวนการสืบสวน 221 หน้า)

2) สำนวนการสืบสวนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง (สำนวนที่ 18) ซึ่งเป็นการให้ความเห็นของ"สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1" ในขั้นตอนต่อเนื่องจาก รายงานการสืบสวน จำนวน 13 หน้า

3) มติกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการประชุมครั้งที่ 105/2562 วันอังคารที่ 24 ก.ย. 2562 จำนวน 2 หน้า

4) บันทึกข้อความ เพื่อส่งสำนวนการสืบสวน ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ลงวันที่ 3 ต.ค. 2562 จำนวน 1 หน้า

5) บางส่วนของรายงานการประชุม คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง คณะที่ 6 ครั้งที่ 6/2562 วันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค. 2562 จำนวน 12 หน้า

6) มติ กกต. ในการประชุมครั้งที่ 129/2562 วันพุธที่ 11 ธ.ค. 2562 จำนวน 3 หน้า

ยันสำนวนยุบพรรคของจริง ชี้ขั้นตอนผิดปกติ กกต. เร่งรัดยุบพรรคใน 8 วัน

นายสมชัย ระบุว่า สำหรับเอกสารดังกล่าว (สำนวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่) เป็นของจริงหรือไม่ จากประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่ง กกต. และเห็นสำนวนการสืบสวนและเอกสารภายในของกกต.มาแล้ว เชื่อได้ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นของจริง ส่วนขั้นตอนการดำเนินการของ กกต. ในคดี เงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่นั้น ขั้นตอนที่ถูกต้อง มีขั้นตอนที่ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง คือ ขั้นการสืบสวน (เอกสารชิ้นที่ 1) ขั้นการให้ความเห็นของสำนักสืบสวน (เอกสารชิ้นที่ 2) มติ กกต. ส่งให้คณะอนุวินิจฉัย (เอกสาร 3) การส่งสำนวนให้คณะอนุวินิจฉัย(เอกสาร 4) ขั้นการให้ความเห็นของคณะอนุกรรมการวินิจฉัย (เอกสารชิ้นที่ 5)

โดยลำดับเวลาของการดำเนินการที่ถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนคือ นับแต่มีผู้ร้องเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2562 จนถึงวันที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยมีการประชุม และมีมติเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นการพิจารณาความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 เรื่องการบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนขั้นตอนที่ผิดปกตินั้น มีขั้นตอนหนึ่งที่ผิดปกติ คือ การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.) มีคำสั่งที่ 7/2562 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และนำเสนอความเห็นต่อ กกต. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 (รวมระยะเวลาทำงาน 8 วันทำการ) โดยมีสิ่งที่ผิดปกติ คือ ใช้เวลาเร่งรัด มีการตั้งข้อกล่าวเพิ่มในมาตรา 62 และ 72 และไม่มีการให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหาและมีโอกาสได้ชี้แจงทั้งๆที่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงในระดับยุบพรรคการเมือง

นายสมชัย ยังระบุว่า กกต. มีสิทธิในการวินิจฉัยที่แตกต่างจากความเห็นคณะทำงาน หรือ อนุกรรมการวินิจฉัยหรือไม่นั้น เห็นว่าเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะมีมติแตกต่างจากความเห็นทุกระดับที่เสนอขึ้นมาได้ โดยเป็นเอกสิทธิ์ในการลงมติของแต่ละท่าน ส่วนมีสิ่งปกติในกระบวนการทำงานเรื่องของ กกต หรือไม่ จากการดูเอกสารและการลำดับเรื่องจะเห็นสิ่งผิดปกติดังนี้

4.1 ผู้ร้อง : ร้องความผิดตามมาตรา 66 (เงินบริจาค)

4.2 คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน : สืบสวนประเด็นตามมาตรา 66 มีมติยกคำร้อง (เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค)

4.3 สำนักสืบสวน : มีความเห็นยกคำร้องตาม มาตรา 66

4.4 คณะอนุวินิจฉัย เสียงข้างมาก : มีมติเห็นสมควรดำเนินคดี ตามมาตรา 66 (เงินกู้เป็นเงินบริจาค)

4.5 คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง : มีมติให้ดำเนินคดี ตามมาตรา 62 (มีรายได้อื่นเกินกว่า รายการที่กฎหมายกำหนด) มาตรา 66 (บริจาคเงินเกิน 10 ล้าน) และ มาตรา 72 (รับประโยชน์อื่นที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย)

4.6 กกต. เสียงข้างมาก : มีมติให้ดำเนินคดี ในมาตรา 62 มาตรา 66 และ 72 ตามคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง และให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค

ติงนายทะเบียนฯ ควรเปิดโอกาสให้คู่กรณีมาแจง เหตุโทษแรงถึงยุบพรรค

"หากในกรณี 4.5 จะมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 62 และ 72 โดยถือเป็นความปรากฏต่อนายทะเบียนที่สามารถหยิบเอาข้อกฎหมายดังกล่าวมาเป็นฐานความผิด ควรมีการแจ้งข้อกล่าวหาและเปิดโอกาสให้คู่กรณีมาให้ข้อมูล และไปเริ่มกระบวนการในขั้นตอน 4.2 ,4.3 และ 4.4 ใหม่ จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต

สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 62 รายได้ของพรรคการเมือง โทษ กรณีไม่มีหลักฐานได้มาซึ่งรายได้ : ปรับไม่เกินห้าหมื่นและอีกวันละพันบาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง

มาตรา 66 บุคคลบริจาคให้พรรคเกิน 10 ล้านไม่ได้ โทษผู้บริจาค : จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินแสนบาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี โทษพรรคที่รับ : ปรับไม่เกินหนึ่งล้าน เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคห้าปี เงินที่เกินให้ตกเป็นของกองทุน

มาตรา 72 รับประโยชน์ที่รู้หรือควรรู้ว่าเป็นเงินที่มิชอบด้วยกฎหมาย โทษ : ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค จำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินหกหมื่น เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ตลอดชีวิต) และส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง