วันที่ 5 พ.ย. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่เริ่มมี ส.ส.ขยับย้ายออกจากพรรค โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ก็เกิดขึ้นกับทุกพรรค เป็นเรื่องของระเบิดเวลาที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับพรรคก้าวไกล ซึ่งเรารู้สึกเสียใจและขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
"อย่างไรก็ตาม ต้องยืนยันว่าตลอด 400 วันที่ผ่านมา เราทำหน้าที่คัดกรองผู้สมัครฯ อย่างเข้มข้นรัดกุม พร้อมยืนยันว่า การลาออกของ ส.ส.เขตไม่กระทบกับฐานเสียง ผู้สมัครเข้มข้นเข้ามาแทน เราก็มีว่าที่ผู้สมัครเข้ามาแทนแล้ว" พิธากล่าว
ส่วนการประเมินสัญญาณการยุบสภา รวมถึงรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยนั้น พิธา มองว่า สัญญาณยุบสภามีมาตลอด ถ้าเป็นสัญญาณที่เชื่อถือได้คงยุบไปนานแล้ว ส่วนรอยร้าวคงเพราะประเด็นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ อีกทั้งประเด็นของโคงตารัฐมนตรีช่วยว่าการของ 4 กระทรวง ที่ยังไม่ได้รับสัญญาณตอบรับจากนายกรัฐมนตรี
สำหรับปัญหาความระหองระแหงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น พิธา ย้ำว่าทั้ง 2 ยังร่วมงานกันได้ เช่นในวาระพิจารณา พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ผ่านมาทั้ง 2 พรรคก็ร่วมมือกัน การเมืองในระบบรัฐสภา ต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ถ้าคิดเห็นเหมือนกันภายในพรรคเดียวกันยังไม่มีเลย ต้องพูดกันด้วยเหตุผล ว่าหาจุดร่วมได้ไหม จุดต่างได้ไหม เอาประชาชนเป็นที่ตั้งได้ไหม
"เช่นคุณ อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร ก็ดี หรือคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ดี วิธีคิดของเราในการทลายทุนผูกขาด เพื่อช่วยให้เกษตรสามารถสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนโภคภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ได้ ก็ได้รับการตอบรับ ผมอธิบายว่าเป็นชัยชนะของประชาชน ไม่ใช่ชัยชนะของก้าวไกล" พิธากล่าว
ยังญาติดีกับ 'เพื่อไทย' แต่ไม่มีทางจับมือ 'พปชร.'
ต่อกระแสข่าวที่อาจมีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหลังการเลือกตั้ง พิธา ระบุว่า ตนไม่ขอวิจารณ์พรรคเพื่อไทย แต่เราเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอานโยบายที่ถูกต้อง เงื่อนไขอยู่บนโต๊ะ ไม่มีการเจรจาใต้โต๊ะ ต้องให้พี่น้องประชาชนทราบ เมื่อมีใบสั่งจากประชาชนแล้ว เราค่อยคุยกันในวันที่ผลเลือกตั้งออก แต่ตอนนี้ที่ตอบได้คือ พรรคก้าวไกลยินดีจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ยินดีจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ
"ร่วมมือกับพลังประชารัฐนี่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อุดมการณ์ต่างเกินไป สืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นไปไม่ได้ที่พรรคก้าวไกลจะเข้าร่วม การจะร่วมกับใคร เอาเงื่อนไขมาเป็นตัวตั้ง ไม่มีการเจรจาใต้โต๊ะลับหลังประชาชน เราก็ต้องรู้ว่าเงื่อนไขมีอะไรที่เรายอมรับได้ ยอมรับไม่ได้ ซึ่งผมก็ยังไม่รู้เงื่อนไขนั้น แต่เราก็พูดได้ว่า มีพรรคการเมืองที่มาจากระบบรัฐประหาร สืบทอดอำนาจ ที่ยังไงเราก็ไม่มีวันเข้าร่วมด้วยแน่นอน ส่วนตรงกลางสีเทาๆ อีกกว่า 50 เฉดระหว่างดำกับขาว คงต้องดูอีกทีหนึ่ง เพราะเราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริงทางการเมือง" พิธากล่าว
เดินหน้าแก้ ม.112 แม้จะโดดเดี่ยว
ขณะที่กรณีมีพรรคไทยภักดียื่นร้องยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากยืนยันจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิธา มองว่า ข้อกล่าวหาไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เราไม่ได้เสนอนโยบายเพื่อหาเสียง แต่เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำให้สถาบันฯ เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเป็นสากล ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเส้นแบ่งทางการเมือง แต่ตนไม่สามารถทิ้งพี่น้องประชาชนที่ถูกจับกุมได้ ยังเป็นสิ่งที่เราต้องผลักดันต่อในรัฐสภา
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันในการแก้ไข มาตรา 112 แม้อาจจะเหลือเป็นพรรคเดียวที่มีจุดยืนนี้หรือไม่ พิธา ระบุว่า พรรคก้าวไกลชัดเจนเรื่องนี้มาตั้งแต่ 2564 และแม้ตอนนี้จะไม่มีแนวร่วม แต่อนาคตอาจมีก็ได้ อย่างน้อยก็มีพรรคเสรีรวมไทยที่เห็นด้วย เราก็ยังจะเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ และคงไม่สามารถจะมองหน้าภรรยาหรือลูกสาวของคนที่ถูกแจ้งจับกุมโดยใครก็ไม่รู้ และสำนักเลขาธิการพระราชวังก็ไม่ได้อนุญาตให้ทำ
“การแก้ไขมาตรา 112 คงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่อาจเป็นความจริงอันน่ากระอ่วนที่ไม่มีใครกล้าพูด เราจำเป็นจะต้องพูดอย่างปราณีต สุภาพ และให้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ก็ยังเดินหน้าต่อ ถึงแม้จะโดดเดี่ยว" พิธา กล่าวในที่สุด