หลังศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผยตัวเลขผลสำรวจแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีอัตราการเป็นหนี้สูงขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยผลสำรวจชี้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยประจำปี 2562 อยู่ที่ 158,855.86 บาทต่อครัวเรือน
ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่สำรวจ สถานการณ์รายรับและรายจ่ายของแรงงานไทยในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครพบว่า แรงงานส่วนมากมีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
'อิทธิชัย จันทร์อินทร์' คนขับรถตู้ กล่าวว่า ถ้าจะให้มองตามสภาพความเป็นจริงค่าแรงขั้นต่ำควรขึ้นไปอยู่ที่ 500 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ การเดินทาง และค่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"รายรับรายจ่ายถ้าเทียบกันแล้วมันไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจมันแย่มาหลายปี มันควรจะอยู่ที่ 500 บาท" อิทธิชัย กล่าว
'แรงงานไทย' ภายใต้การเมืองไม่นิ่ง
จากผลการวิเคราะห์สภาพแรงงานไทยในปัจจุบัน 'ผศ.ดร. ธนวรรธน์ ผลวิชัย' รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เข้มแข็งให้ได้ไวที่สุด เพื่อมาสานต่องานด้านเศรษฐกิจรวมทั้งเป็นการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ
สำหรับประชาชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากประเทศมีการเมืองที่ชัดเจนขึ้นและมีเสถียรภาพกว่านี้ ประชาชนน่าจะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จากการสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ยังลงความเห็นว่าอยากได้ผู้นำหน้าใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศมากกว่าขั้วเก่าที่อยู่มาแล้ว 5 ปี โดยให้เหตุผลว่า อยากเปิดโอโกาสให้คนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากรู้ศักยภาพของคนกลุ่มเดิมแล้วและคิดว่าไม่ตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศตอนนี้ "ค่อนข้างแย่"
"กลุ่ม 5 ปีที่แล้วก็เห็นกันอยู่ อยากได้หน้าใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศบ้าง เผื่ออะไรมันจะดีขึ้น" แววตา ไชยดวง กล่าว
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากฝ่ายไหน แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือการเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ปล่อยใครไว้ข้างหลัง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 หรือ 500 บาท คงไม่สำคัญเท่าการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย แต่แน่นอนว่าการไม่แก้ปัญหาอะไรเลย ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :