ไม่พบผลการค้นหา
หากจะทำความเข้าใจขนบธรรมเนียมปฏิบัติ หรือบรรทัดฐานของวงการบันเทิง ศิลปิน นักร้องนักดนตรี ผ่านชีวิตของไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือแอมมี่ ฟรอนต์แมนของ The Bottom Blues อาจจะไม่ได้เรื่องได้ราวมากนัก นั่นไม่ใช่เพราะเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะเขานิยามตัวเองว่า “ผมไม่เคยเป็นเด็กดีของใคร” ในทางกลับกันเขาสามารถเปิดให้เห็นถึงโครงสร้างบางอย่างที่คอยกดทับคนในวงการบันเทิงโดยเฉพาะกลุ่มนักดนตรีได้อย่างถึงลูกถึงคน

เขาเปิดบ้านต้อนรับ ชวนเราเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวที่เขาใช้มันสำหรับทำงานศิลปะ มีฉากหลังเป็นภาพเขียนผืนใหญ่ ที่ให้ความหมายกับมันว่า นี่คือ ใบหน้าของผู้คนที่รายเรียงประกอบกันเป็นมงกุฎขนาดใหญ่ คำว่า “คนเท่ากัน” เป็นที่มาของงานชิ้นนั้น ไม่ว่าจะสวมมงกุฎ หรือสวมหมวกชาวนา ก็ไม่ได้มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร 


อาชีพศิลปินมักมาพร้อมกับการถูกทำให้กลายเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’

แอมมี่เริ่มเข้าวงการศิลปินจากการทำเพลงใน Underground อยู่ช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มทำเพลงส่งค่าย และได้ออกเพลงแรกคือ 1 2 3 4 5 I love you เพลงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก ไม่นานชื่อเสียงของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เขาเผชิญกับปัญหาที่ศิลปินหลายคนมักพบเจอ คือ การกลายเป็นบุคคลตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เมื่อขึ้นเวทีมีเสียงเชียร์จากแฟนเพลง ลงจากเวทีมีคนขอถ่ายรูป ออกไปในที่สาธารณะเริ่มมีคนรู้จัก ผลอีกด้านหนึ่งของมันคือ เขาตกอยู่ในความคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ จนหลงระเริง เขาเรียกสภาวะที่เป็นอยู่ในช่วงนั้นว่า ‘ร็อคสตาร์ซินโดรม’

“งานเขาเราอยู่บนเวที แล้วพอเราดังเร็ว โลกของเราก็ถูกจำกัดอยู่กับโรมแรม เวที และการเดินทาง มีเสียงกรี๊ด เราอยู่กับเสียงคนดู อยู่กับคำสรรเสริญเยินยอ และมันทำให้เราไหลไปตามนั้น มันเลยทำให้เราคิดว่าเราสำคัญ ยิ่งเป็นฟรอนต์แมนด้วย มันก็ยิ่งทำให้เรา Privilege กว่าคนอื่นๆ”

อาชีพศิลปิน หากเทียบกับอาชีพอื่นๆ แอมมี่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มี Privilege กว่าหลายอาชีพ เพราะเมื่อคุณเริ่มเข้าสู่วงการ มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก คุณจะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่าคนทั่วไป และมีคนดูแลตลอดเวลา และ Privilege ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ การได้รับวัคซีน

“น่าเศร้าคือ เรื่องวัคซีน แทนที่การจัดลำดับความสำคัญแรก ที่เราควรจะให้ควรจะเป็นหมอ พยาบาล แต่วงการบันเทิงกลับได้ก่อน คือเราอยู่ในสังคมมอบสิทธิพิเศษให้กับดารา หรือคนในวงการบันเทิงมาตลอด”

แอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_001.jpg

นอกจากนี้ การพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอความคิดต่อสถานการณ์บางอย่างของเหล่าคนวงการบันเทิงก็ย่อมส่งผ่านไปในสังคมได้มากกว่าคนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามแอมมี่มองเห็นว่า เป็นเรื่องปกติิที่คนในวงการบันเทิงจะถูกครอบด้วยข้อจำกัดบางอย่าง หากใครล้ำเส้นเหล่านั้นไปสิ่งที่จะตามมาคือ ผลกระทบต่อหน้าที่กาารงาน

เขาขยายภาพให้เห็นความใหญ่ของปัญหาด้วยการเทียบว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้คือการปฏิวัติประเทศ สิ่งที่ต้องปฏิวัติไปพร้อมกันก็คือ 'วงการบันเทิง' 

“มันเป็นสิ่งที่ท่องกันไว้ขึ้นใจเลยว่า อย่าแตะการเมือง เหมือนเป็นตำราเลยว่า ห้ามยุ่งการเมือง ห้ามฝักใฝ่ฝ่ายไหน เพราะวันหนึ่งไม่รู้ว่าใครจะชนะหรือแพ้ อย่าแตะนะ มันไม่ใช่เรื่องที่ดี มีแต่เสียกับเสีย มันมีโครงสร้างบางอย่าง เครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน มีอิทธิพล มีอำนาจที่กดทับเราไว้อีกที นึกง่ายๆ ก็อย่างเช่น ห้ามสูบบุหรี่ให้คนเห็น ห้ามมีแฟน แต่เฉพาะเรื่องการเมือง สิ่งแรกคือการห้ามแแตะเจ้า อย่าเด็ดขาด… และถ้าคุณดื้อเมื่อไรเขาก็จะไม่สนับสนุนคุณ คุณต้องเป็นคนน่ารัก และต้องมีผลประโยชน์สร้างเงินให้เขาได้ เขาถึงจะรักคุณ”

ผลที่ได้รับจากการฝ่าฝืนขนบของวงการบันเทิง แอมมี่เห็นว่า หลายคนจะได้รับการกดดันในหลายรูปแบบ หรือพูดตรงๆ คือ ถูกตัดการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ซึ่งนี่คือสภาพความเหลื่อมล้ำภายในวงการบันเทิงที่มีมานานแล้ว ต่อให้คุณทำงานดี คนฟังชอบเพลงคุณ คนอยากจะไปดูคุณ แต่ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์คุณก็ไปต่อได้ยาก กลับกันถ้าคุณเป็นวงดนตรีที่มีเส้นสายกับอีลิท หรือกลุ่มทุน คุณสบายใจได้ไม่มีอะไรต้องกังวล

เมื่อถามว่า เขาเคยเป็นเด็กดีของผู้ใหญ่ หรือเป็นคนน่ารักมาก่อนหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ไม่เคย เขาย้ำว่า ตัวเองเป็นคนที่เอาแต่ใจมากๆ ทั้งเรื่องเพลง การแต่งตัว การโชว์ ภาพลักษณ์ต่างๆ ที่ออกมา แต่เหตุที่ไม่มีใครมาจัดการให้เขาถอดตัวตนของตัวทิ้ง เป็นเพราะเขาคือคนลงมือเขียนเพลง แต่งทำนอง และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

“อย่างน้อยที่สุดคือ เราถือเนื้อร้อง ทำนอง อยู่ในมือ เราสร้างงานเองได้ ไม่ใช่ต้องไปรอเขา หลักๆ คือเพลงนี่แหละ คนที่ไม่ได้ทำเพลงเองก็จะเป็นเด็กน่ารักโดยธรรมชาติ ต้อง Nice กับทุกคน อยู่เป็นน่ะ ปีใหม่ต้องไปสวัสดี ต้องถือกระเช้าไป แต่เราไม่เคยทำ”

แอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_011.jpg

จากเวทีคอนเสิร์ต สู่เวทีชุมนุม เสียอะไรไปและได้อะไรมา

“มีคำหนึ่งพี่ตูน (T_047) บอกว่าการเป็นฟรอนต์แมน หรือได้ยืนบนเวที คุณจะได้ไปอยู่บนโลกที่คนอื่นไม่ได้สัมผัส แต่พอมาขึ้นเวทีการเมือง สิ่งที่ได้รับมามันเหนือกว่านั้นอีก พลังที่ได้รับจากมวลชนมันเหนือกว่านั้น เรียกได้ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่เราตามหาก็ได้”

แอมมี่ เล่าความรู้สึกต่อว่า การเล่นดนตรีตามผับ บาร์ กับการเล่นดนตรีในม็อบ แม้จะเล่นเพลงเซ็ตเดียวกันหมด แต่กลับเหมือนอยู่คนละโลก เขาชี้ว่า ระดับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนกับศิลปิน มีอยู่ 3 ระดับคือ ‘รู้จัก-รัก-ศรัทธา’ สำหรับผับ บาร์ คอนเสิร์ต เต็มที่ที่สุดจะได้รับแค่สองระดับแรก ขณะที่เวทีชุมนุมได้ทำให้เกิดความศรัทธาขึ้นมาด้วย

นั่นคือสิ่งที่เขาได้ ส่วนสิ่งที่หายไปคือ การงานในเส้นทางนักดนตรีแบบเดิม แอมมี่ เล่าหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา กระทั้งงานที่เป็นคนคิดขึ้น เป็นคนออกแบบ ประสานส่วนต่างๆ ให้เกิดงานนี้ขึ้นมาได้ สุดท้ายตัวเขาเองถูกตัดออกจากโปรเจคที่เขาเป็นคนทำ เพียงเพราะออกมาร่วมชุมนุม และขึ้นเวทีกับนักศึกษา

“ศิลปินโดยเฉพาะนักร้อง นักดนตรี มันจะอยู่กับเครื่องดื่ม มันจะอยู่กับร้านเหล้า และต้องยอมรับว่า การผูกขาดของสิงห์ กับช้าง มันชัดเจนว่ามีแค่สองเจ้า พอมันเป็นการผูกขาดลักษณะนี้ การดีลของพวกเขาก็ต้องดีลตรงกับรัฐบาล แล้วถ้าแม่งบอกไม่ให้ขายเขาก็เดือดร้อน เขาอาจจะไม่ได้อยากทำนะแต่เขาจำเป็น”

นอกจากจะเสียงานที่ผูกอยู่กับแบรนด์เครื่องดื่มไปแล้ว งานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม แต่เป็นงานจ้างโดยเจ้าของร้านเหล้าที่มีอุดมการณ์คล้ายกันก็พบกับการถูกคุกคามอีกรูปแบบหนึ่ง

“สภาพคือ สันติบาล นอกเครื่องแบบแม่งมาล้อมร้าน แล้วมาตั้งแต่ตอนซาวน์เช็ค ก่อกวนทุกอย่าง บางทีเดินทางไปจะถึงร้านที่จ้างแล้ว สุดท้ายต้องเปลี่ยนร้านเล่น ไม่เคยเจอเหมือนกันชีวิตนี้ ต้องมาอยู่ในบรรยากาศที่ลงจากสนามบินจะไปเล่นอยู่แล้ว ไอ้เหี้ยแม่งมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนคิวตลอด เพราะต่อให้ร้านไหนบอกกล้าจ้างไปเล่น สุดท้ายแล้วทุกร้านมันอยู่ได้ก็เพราะจ่ายส่วยกันหมด นอกจากงานพวกเราจะผูกกับทุนแล้ว มันยังผูกอยู่กับรัฐด้วย แล้วถ้าเขาบอกว่าไอ้นี่มันซ่านัก ไปจัดมันหน่อยสิ สันติบาลมันก็มานั่งโต๊ะหน้า คุณก็จำได้ ตอนนั้นนั่งอยู่ยังลุ้นเลยว่าจะได้เล่นหรือเปล่า เมื่อออกมาต่อสู้กับทรราช ก็เห็นชัดว่าเขาใหญ่จริง”

แอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_027.jpg

ปีแห่งการคอทเอาท์ และปีแห่งการปอกเปลือกศิลปิน

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ กระแสเรียกร้องของแฟนคลับที่ต้องการเห็นศิลปินออกมา คอลเอาท์ มันเกิดจากความรู้สึกแบบไหน หรือเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แอมมี่ให้นิยามว่า ปีนี้คือเป็นของการล่าแม่มด หรือปีเเห่งการปอกเปลือกศิลปิน

“ปีที่ผ่านมามันมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แล้วมันทำให้คนเจริญเติบโตทางความคิดมากขึ้น ถามว่าเขาคาดหวังอะไรกับศิลปิน มันเป็นปีแห่งการล่าแม่มด และเป็นการปอกเปลือกคน สุดท้ายแล้วเห็นว่าพวกที่ทำตัวเป็น ขบถ จริงๆ แล้วคุณแค่ไหลตามน้ำ คุณเป็นขบถแค่ภาพ ผมไม่รู้ว่ามันอารมณ์ไหนนะ แต่เวลาเกิดวิกฤติ คนกำลังเดือดร้อน คนกำลังต้องการสิ่งระบายอารมณ์ และประยุทธ์ไม่เพียงพอแล้ว เขาก็จะเริ่มเห็นถึงอภิสิทธิ์ชน มันเลยมีการล่าแม่มดต่อเนื่อง เป็นปีแห่งการเฉลยน่ะ ผมยังอึ้งเลยนะ บางคนวางลุคมาอย่างดี อยู่ได้ทั้งแคท อินดี้ การเมือง เอาใจเฟมฯ เอาใจ LBGT แต่สุดท้ายก็มาโป๊ะ คนที่ผมไม่คิดว่าเขาจะลากลงมาตบ เราก็ได้เห็นแล้วว่า เขาลากลงมาแล้ว”  

อย่างไรก็ตาม แอมมี่คิดว่า จุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของศิลปินอาจจะไม่ส่งผลต่อการเสพงานของคนมากนัก เขามองแยกส่วนกันระหว่าง งานศิลปะ กับอุดมการณ์ และเชื่อว่าเพลงดี ก็ยังเป็นเพลงดี อย่างไรคนก็ฟัง 

“ย้อนกลับไปเอาง่ายๆ ขนาดคาราบาวยังหักอกแฟนเพลงมาแล้ว หลอกคนมาแล้ว 20-30 ปี ก็ยังหลอกได้ แต่ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเนื้อร้อง ทำนองของน้าแอ๊ดคือ มันสุดอ่ะ ถ้าเป็นเพลงรักมันไม่เกี่ยว แต่อาจจะเกี่ยวกับเพลงเพื่อชีวิตหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ แต่เชื่อว่าถ้าเรื่องการเมืองกลับไปในได้จุดที่ลงตัวแล้ว สังคมก็จะกลับสู่สภาพเดิม คนก็จะเสพเพลง ไม่เกี่ยวว่าใครร้อง แต่ถ้าเป็นเพลงที่ดี ผมก็เชื่อว่าเขาจะเสพ”

แต่ในด้านกลับกัน อาจจะมีการที่มวลชนรักศิลปินบางคนเพราะความคิด และการแสดงออก แต่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงมาก่อน เขาก็เปิดเพลงของศิลปินคนนั้น เพราะอยากจะสนับสนุน เป็นความรู้สึกขอบคุณที่ออกมาสู้

ส่วนปรากฏการณ์ที่ดาราออกมาคอลเอาท์กันมากมายในช่วงที่ผ่านมา แอมมี่ตอบด้วยความจริงใจ และตรงไปตรงมาว่า ด้านหนึ่งเขารู้สึกว่ามันตลก แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ยอมรับว่า “ก็ดีแล้ว”

“ปีที่แล้วเรายังคุยกันอยู่ว่า เดี๋ยวคอยดูดิ แม่งจะออกมาเป็นพาเหรด ถ้าประยุทธ์ตกต่ำสุดๆ ผมก็มองกับสิ่งที่คาดการณ์ว่ามันก็ตลก แต่เราก็ไม่ใช่คนที่อยากจะไปให้ความเห็นโจมตีใคร พยายามจะทำความเข้าใจมากกว่า แต่ดูแล้วมันตลก และรู้สึกสงสาร บางคนมึงไม่มีอินพุดเลย มึงจะคอลเอาท์มึงก็ไปก็อปเพื่อนมา มันเป็นเทรนด์น่ะ แต่กลวงมาก”

“ศิลปินจำนวนมาก อยู่ใน Safe Zone อยู่กับเพื่อนในวงการ นั่งคอมมอน ไปทองหล่อ ใช้ชีวิตรูปแบบเดิมๆ เขาก็ไม่รู้หรอกกันว่าตอนนี้ในหัวของมวลชน เขาไปไกลกันถึงไหนแล้ว พวกเจนเนอร์เรชั่นใหม่ มันไปไกลกว่าพวกศิลปินอีก เพราะหลายคนก็ยังมาในแพทเทิร์นนี้ว่า ถ้าพ่อยังอยู่วันนี้คงดีนะ แล้วคุณเห็นแบบนี้คุณตลกไหม”

ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์บรรดาเพื่อนร่วมอาชีพ แอมมี่ก็ยังเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ดี และเป็นสัญญาณที่อาจจะบอกว่า ชัยชนะในการล้มประยุทธ์ใกล้มาถึงแล้ว 

“มันก็ดีแล้ว อย่างน้อยเราก็ได้เห็นเขาตื่นตัวเรื่องนี้ และก็คงต้องมองด้วยความยินดี ก็ดีแล้ว ดีกว่าเขาเป็นศัตรู”

แอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_029.jpgแอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_040.jpgแอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_042.jpgแอมมี่ the bottom blues_Voice_Patipat_031.jpg

วงการบันเทิงเหรอ ผมไม่ได้สนใจมันแล้ว

แอมมี่ เล่าว่า ระหว่างที่เขาถูกสั่งขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตามปกติผู้คุมจะเปิดทีวีให้ดู เขาเห็นดาราศิลปินยังคงไปออกรายการเกมโชว์เป็นปกติ สนุกสนาน นั่นเป็นเหตุผลที่เขาพูดกับไผ่ จตุภัทร์ ภายในเรือนจำว่า “ผมคงไม่กลับไปอีกแล้ววงการบันเทิง” 

พูดอย่างถึงที่สุด แอมมี่รู้สึกแย่กับวงการบันเทิง และไม่คิดจะกลับไปอยู่ภายในวงการมายาเหล่านี้อีกแล้ว แม้ตอนนี้จะมีการออกมาคอลเอาท์โดยคนมีชื่อเสียงมากมาย แต่ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่พื้นที่เขาสนใจ มากไปกว่านั้นเขาตั้งถามต่อไปว่า เสียงของคนบันเทิงเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่จริงหรือไม่ เพราะเวลานี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพนกวิน ไผ่ อานนท์ และแกนนำคนอื่นๆ และประชาชนออกมาพูดปัญหาของตัวเองก่อนที่ดาราจะพาเหรดออกมานานแล้ว

“ใครจะพูด หรือไม่พูดก็ได้ ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องมีจิตสาธารณะ พอเป็นคนของสังคมแล้วจะต้องบริการแฟนคลับ ไม่จำเป็น แต่ขอให้จริงใจเถอะ ผมว่าซื่อสัตย์กับตัวเองดีกว่า จะไม่คอลเอาท์ จะไม่พูด I don’t give a damn ก็เป็นตัวคุณ คุณจะลงรูปนั่งจิบไวน์ อยู่ศรีพันวา คุณก็เป็นคุณ ไม่จำเป็น ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องออกมามีปากมีเสียง แต่สังคมเขาตัดสินได้” 

ภาพโดย: ปฏิภัทร์ จันทร์ทอง