'แอนดรูว์ หยาง' นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 43 ปี เกิดในมลรัฐนิวยอร์ก และไม่ได้มีชื่อเสียงนัก แต่กลับมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยหยางประกาศว่าเขาจะสมัครเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020
หยางชูนโยบายการแจกเงินเดือน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 บาทให้ประชาชนชาวอเมริกันทุกคนที่อายุ 18 - 64 ปี ให้เป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจากรัฐบาล (Universal Basic Income : UBI) โดยเขาเรียกเงินจำนวนนี้ว่าเป็น "เงินปันผลอิสรภาพ" ซึ่งจะไม่มีเงื่อนไขผูกมัดว่าต้องนำเงินเหล่านี้ไปใช้ทำอะไร
โดยเขาอธิบายเหตุผลที่เสนอนโยบายนี้ว่า "เป็นวิธีการที่ตรงและเป็นรูปธรรมที่สุดที่รัฐบาลจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตคุณได้ก็คือการแจกเช็ค 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้คุณทุกเดือน และปล่อยให้คุณนำไปใช้ยังไงก็ได้ที่จะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด" และเขายังเชื่อว่า การแจกเงินเดือนพื้นฐานจะช่วยให้สุขภาพจิตของชาวอเมริกันดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้คนริเริ่มทำธุรกิจกันมากขึ้นด้วย
เพราะรัฐบาลมีทรัพยากรมากมาย แต่ทรัพยากรเหล่านั้นยังไม่ถูกแจกจ่ายไปให้กับคนอย่างเพียงพอ และการให้รายได้พื้นฐานจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นด้วย
ทั้งนี้ หยางเป็นผู้ก่อตั้ง Venture for America โครงการให้ทุนทำธุรกิจและเป็นผู้เขียนหนังสือ The War on Normal People: The Truth About America's Disappearing Jobs and Why Universal Basic Income Is Our Future เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และเอไอในสหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาด้วยรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจากรัฐบาล
เมื่อเดือนมี.ค. 2018 หยางเคยเขียนในเว็บไซต์ Reddit ว่า การให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) เดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลดีกับประเทศอย่างมาก ประชาชนจำนวนมากจะหมดกังวลเรื่องการเอาชีวิตรอดจากความยากจน และเขาเคยทำงานกับผู้ประกอบการหน้าใหม่จำนวนมากที่มีแนวคิดที่น่าทึ่ง การให้รายได้พื้นฐานจะเป็นตัวเร่งให้คนสร้างสรรค์ศิลปะ เริ่มทำธุรกิจ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน
ทำไมต้องให้ 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือน?
หยางระบุว่า ก่อนหน้านี้ 'แอนดี สเติร์น' อดีตประธานสหภาพลูกจ้างภาคบริการระหว่างประเทศ (SEIU) เคยเสนอจำนวนเงินที่เหมาะสมสำหรับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าไปที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันรูสเวลต์ก็เคยศึกษาและจำลองการให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ เงินจำนวน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีจะทำให้ประชาชนมีรายได้ใกล้เคียงกับเส้นแบ่งความยากจนของสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ ระบุว่า เส้นแบ่งความยากจนของสหรัฐฯ อยู่ที่ 12,752 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปี
ขณะเดียวกัน เงินจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐก็เป็นตัวเลขที่ต่ำพอจะกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่ว่าการให้เงินเปล่าจะทำให้คนขี้เกียจทำงาน โดยหยางระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่คนในสหรัฐฯ จะอยู่ได้ด้วยเงินเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น เงินจำนวนนี้ไม่มากพอที่จะทำให้ประชาชนเลิกทำงานไปเลย แต่เป็นจำนวนเงินมากพอที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหลายครอบครัว
หุ่นยนต์ยิ่งเร่งให้ต้องให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า
หยางกล่าวว่าเขาอยู่ในตำแหน่งที่เห็นทั้งด้านการพัฒนาหุ่นยนต์และด้านแรงงานที่เสี่ยงจะตกงานในสหรัฐฯ จากการทำงานใน Venture for America เขามองว่ารายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามีความจำเป็น เพราะหุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ แรงงานในภาคค้าปลีก อาหาร บริการลูกค้า คมนาคม ประกันภัย บัญชี การแพทย์และกฎหมายจะเสี่ยงตกงาน
ข้อมูลของหยางสอดคล้องกับรายงานของสถาบัน McKinsey Global ที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะมีแรงงานที่ต้องเปลี่ยนสายงานเพราะหุ่นยนต์ทั่วโลกประมาณ 75 ล้านคน และหุ่นยนต์อาจมาแทนที่แรงงานมากกว่า 400 ล้านตำแหน่ง
หยางระบุว่า หากหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนมนุษย์ รัฐบาลก็ควรต้องจ่ายเงินให้มนุษย์มีกินมีใช้ โดยรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะมาจากการเก็บภาษีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการใช้หุ่นยนต์ โดยจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการที่บริษัทเหล่านี้ผลิตร้อยละ 10