ไม่พบผลการค้นหา
ซานฟรานซิสโกสั่งห้ามหน่วยงานราชการใช้ระบบตรวจจับใบหน้าเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ

เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ออกกฎห้ามมิให้มีการใช้ระบบตรวจจับใบหน้าโดยหน่วยงานราชการ 53 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจ แต่ไม่มีผลกับเทคโนโลยีของภาคธุรกิจหรือคนทั่วไปที่ใช้ระบบนี้ เช่น ใช้ในการปลดล็อกโทรศัพท์ ตรวจจับใบหน้าขณะถ่ายรูป หรือแม้กระทั่งใช้ระบบนี้ในกล้องวงจรปิดของตัวเอง

การแบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการต่อต้านการสอดแนม ซึ่งคณะกรรมการกำกับการบริหารเมืองรับรองไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยนอกจากเรื่องระบบตรวจจับใบหน้าแล้ว ข้อบัญญติดังกล่าวยังระบุว่าหน่วยงานราชการต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับฯ ก่อนจะซื้อกล้องวงจรปิด และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะถึงจุดประสงค์การใช้งานด้วย

"เราสนับสนุนการทำงานที่ดีของตำรวจ แต่ไม่มีใครอยากจะอยู่ในรัฐที่ควบคุมโดยตำรวจหรอก" แอรอน เพสกิน สมาชิกคณะกรรมการกำกับการบริหารเมือง ผู้เสนอร่างกฎหมายนี้กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

ข้อกำหนดใหม่นี้สร้างความตื่นตัวในการพิจารณาสมดุลระว่างการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อความปลอดภัยกับการรักษาควาเมป็นส่วนตัวของพลเมือง ทางด้านเมืองโอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และเมืองซัมเมอร์วิลด์ รัฐแมสซาชูเสตส์ จะมีแผนจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแบนระบบตรวจจับใบหน้าในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันนั้น ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีนี้โดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีให้เห็นอยู่ อย่างเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่เมืองแอนแนโพลิส รัฐแมริแลนด์ ใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการระบุตัวผู้ต้องสงสัยเหตุกราดยิงในห้องแถลงข่าวของแคปปิตอลกาเซตต์ หนังสือพิมพ์รายวันในเมืองแอนแนโพลิส รวมถึงมีการใช้ในสนามบินและสนามกีฬาขนาดใหญ่หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพพลเมืองมีความไม่สบายใจว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกรัฐบาลนำไปใช้ในทางที่ผิด และอาจทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีการสอดส่องควบคุมมากเกินควรตามอย่างประเทศจีน

สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union) ชี้ว่าความสามารถในการสอดส่องและระบุตัวตนผู้คนจากระยะไกลหรือทางออนไลน์โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวหรือยินยอมนั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่คุกคามความสามารถของชาวอเมริกันในการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงทางการเมือง หรือแม้แต่การทำธุระในที่สาธารณะโดยไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน

นอกจากนี้สหภาพฯ ยังมีความกังวลว่าเทคโนโลยีจะไม่มีประสิทธิภาพพอในการระบุตัวตนคนผิวสีและผู้หญิงได้อย่างถูกต้อง เป็นผลมาจากอคติในการป้อนข้อมูลประชากร โดยมีสัดส่วนของผู้ชายผิวขาวสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ดังที่เคยมีให้เห็นมาแล้ว

แมตต์ เคเกิล ทนายด้านเทคโนโลยีและเสรีภาพพลเมือง ของสหภาพฯ กล่าวว่า ด้วยการรับรองข้อบัญญัตินี้ ซานฟรานซิสโกได้ประกาศจุดยืนแล้วว่าเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้านั้นไปด้วยกันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ทางด้านสมาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองซานฟรานซิสโก ชี้ว่าการแบนนี้จะเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนคดีอาชญากรรม

"แม้เราจะเข้าใจดีว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่ได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็กำลังพัฒนาอยู่ ผมคิดว่าอย่างน้อยมันก็ประสบความสำเร็จในการชี้เบาะแสให้กับพนักงานสืบสวนอาชญากรรม" โทนี มอนโตยา ประธานของสมาคมฯ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าแทนที่จะแบนการใช้งาน ผู้บริหารเมืองควรจะหาทางออกแบบกฎระเบียบโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามากกว่า โจนาธาน เทอร์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน มองว่าเป็นเรื่องตลกมากที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสนามบินและชายแดน

"ยากที่จะปฏิเสธนะว่าเทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประชาชน" เทอร์ลีย์ กล่าว

ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกาที่สั่งห้ามหน่วยงานรัฐใช้ระบบตรวจจับใบหน้า ซึ่งสำนักงานตำรวจหลายแห่งใช้ในการค้นหาทั้งผู้ต้องสงสัยและผู้กระทำผิด แม้ว่าซานฟรานซิสโกเองจะยังไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าก็ตาม เว้นแต่ในสนามบินและท่าเรือ ซึ่งดำเนินการภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง และจะไม่ได้รับผลกระทบจากข้อบัญญัตินี้

ที่มา: CNN / The New York Times / Wired