นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ระบุถึงแนวทางการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทู ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตว่า กรมประมงมีความพยายามที่จะทำการเพาะพันธุ์ และเลี้ยงปลาทูเพื่อให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้สามารถเลี้ยงได้ในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสามารถนำไปส่งเสริมเกษตรกรประกอบเป็นอาชีพได้ในอนาคต
จากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรปลาทูในช่วงห้าปีที่ผ่านมาที่ทำให้ "ปลาทูในอ่าวไทย" ลดลงเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน เพื่อที่จะหามาตรการที่จะควบคุมการทำประมงเพื่อทำให้ปลาทูในอ่าวไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นมาตรการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการ "ปิดอ่าว" ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2562 ที่มีอยู่เดิมทุกปี ทั้งมาตรการในการควบคุมการทำการประมงที่มีโอกาสที่จับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนที่จะมีการวางไข่ โดยการกำหนดขนาดตาอวนติดตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงเวลา "ปิดอ่าว" และมาตรการในการควบคุมการทำประมงที่มีโอกาสจับลูกปลาทูที่พึ่งเจริญเติบโตโดยการกำหนดเขตห้ามทำการประมงในพื้นที่ประมาณ 7 ไมล์ทะเลนับจากเขตชายฝั่งต่อจากระยะเวลาที่ปิดอ่าวออกไปอีก 1 เดือนในพื้นที่ปิดอ่าวเดิม
นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาและพื้นที่ในการ "ปิดอ่าวตอนใน" ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง "ปลาทูโตเต็มวัย" ก่อนที่จะกลับมาวางไข่ถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้การจับลูกปลาขนาดเล็กหมดสิ้นไปเลย เพราะทุกภาคส่วนต่างยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง แต่ผลจากการใช้มาตรการที่ชัดเจนขึ้นนี้พบว่า มีการพบเห็นปลาทูเพิ่มขึ้น