ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ทุกช่วงเดือน พ.ค. - ก.ย. ถือเป็นฤดูกาลการจัดทำงบประมาณสำหรับปีถัดไปของทุกรัฐบาล
ทว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล คสช. ก็เหมือนหยั่งรู้อนาคตว่า ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ให้แนวทางการจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เลื่อนออกไป โดยไม่มีรายละเอียดชี้แจง
ก่อนที่จะมารับรู้รับทราบปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พร้อมกัน เมื่อนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมบรรยายหัวข้อ "การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563" ในการสัมมนา ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท มีกำหนดการ ดังนี้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประชุม 4 หน่วยงาน พิจารณางบประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงิน และโครงสร้างงบประมาณ ปรับปรุงงบประมาณปี 2563 และนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบ
รับฟังความคิดเห็น 15 วัน ก่อนสรุปรายงาน และนำเสนอ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
ครม.ให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ให้ส.ส.พิจารณา ในวาระที่ 1 ( 2 - 3 วัน)
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563
ส.ส.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ วาระที่ 2-3 ส่งให้ ส.ว.พิจารณากลั่นกรอง (ภายใน 20 วัน) ก่อนส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป
จากปฏิทินของสำนักงบประมาณทำให้เห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ล่าช้าออกไปถึง 4 เดือน จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ
ด้าน นายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ มองกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ล่าช้า ว่า เกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ล่าช้า จึงต้องรอให้สัดส่วนรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองชัดเจนก่อน เพื่อจะได้ดูว่า พรรคร่วมรัฐบาลไหน รับผิดชอบกระทรวงอะไร จึงจะได้ดำเนินการจัดทำนโยบายของรัฐบาลมาแถลงต่อรัฐสภา ก่อนจะนำนโยบายเหล่านั้นไปกำหนดแผนงานและโครงการของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงว่า จะใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 อย่างไร ให้สอดคล้องกับนโยบาย
"ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี ที่ส่วนใหญ่คือรายจ่ายประจำ สำหรับข้าราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะตามกฎหมายระบุให้ยึดไปตามการจ่ายงบประมาณของปีก่อนหน้า แต่ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแน่นอนคือ งบลงทุนที่ไว้ใช้จ่ายในโครงการสำคัญของรัฐบาล จะยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้จนกว่างบของปี 2563 จะแล้วเสร็จ ซึ่งตามกำหนดคือเดือนม.ค. 2563 ทำให้เวลาการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2563 จะเหลือเวลาเพียง 9 เดือน จึงต้องติดตามว่า จะกระทบต่อ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน" นายไกลก้อง กล่าว
ทั้งนี้ตาม โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นั้นพบว่า งบรายจ่ายลงทุนที่ ส.ส.ฝ่ายค้านกังวลนั้นมีวงเงินสูงถึง 691,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.6 ของงบประมาณทั้งหมด
สอดคล้องกับมุมมองจาก นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่ต่างประมาณการกันว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เป็นต้นไปจะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งจีนจะได้รับผลกระทบมากจนต้องนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกภิจภายใน การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะทำได้ยาก จากกำแพงภาษีที่ถูกตั้งไว้สูง ห่วงโซ่อุปสงค์ ในสินค้าที่ไทยเป็นฐานการผลิตก็จะตกลงตามไปด้วย
สำหรับประเทศไทย นายกิตติ วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ 2-3 แห่ง ประมานการลดการเจริญเติบโตของจีดีพีในปี 2563 พร้อมกัน จาก 3 ปลาย เหลือ 3 ต้น นั้น ต้องรับฟัง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ เครื่องจักรด้านการส่งออก ผลการประเมินตรงกันคือ 0 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเครื่องจักรด้านการท่องเที่ยว เป้าหมายที่ 40 ล้านคนนั้น ต้องจับตาว่าจะถึงหรือไม่ ในระดับรากหญ้าก็ไม่มีกำลังซื้อ ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่อาจทำได้ เพราะยังไม่มีรัฐบาล ไม่มีนโยบาย
นายกิตติ กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ก็ยังไม่มี งบลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาทไม่อาจเบิกจ่ายได้ มีเพียงงบรายจ่ายประจำเงินเดือนข้าราชการเท่านั้น ที่ไม่มีปัญหา ซึ่งจะครอบคลุมแค่คนไม่กี่ล้านคน ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากยัง ไม่มีกำลังซื้อ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ต้องแบกรับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มิเช่นนั้นการลงทุนจากต่างชาติก็จะยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่หมายมั่นปั้นมือ
“ยิ่งมีรัฐบาลใหม่เร็ว ก็ยิ่งช่วยให้มีนโยบายมาช่วยช้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกให้ไม่ต่ำเกินไปได้ จะได้มีรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจมาคอยกำกับนโยบายสร้างความเชื่อมั่น อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิมที่โปรยเงินผ่านบัตรคนจนในลักษณะอนาถา ซึ่งไม่ได้มีความยั่งยืนอะไร แต่ต้องหันกลับมาปรับกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งให้รากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่าง โอท็อป หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเปิดให้ภาคประชาชนแต่ละท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนร่วมเชื่อมโยงการทำงานโดยมีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อน เมื่อข้างนอกแย่ ข้างในจึงต้องแน่น” นักเศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะ กล่าว
ทั้งหมดคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดมาจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับสภาวะของ “รัฐบาล500” ที่ไร้เสถียรภาพด้วยจำนวนเสียงปริ่มน้ำในสภาล่าง ก็ยังต้องลุ้นกันอีกขนานใหญ่ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะผ่านการพิจารณาหรือไม่ ท่ามกลางรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วย 19 พรรคซึ่งสามารถสร้างอำนาจต่อรองและพร้อมถอนตัวร่วมรัฐบาลได้ทุกเมื่อหากประสานผลประโยชน์ไม่ลงตัว
นี่จึงเป็นชะตากรรมร่วมที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและแบกรับร่วมกันต่อไปภายใต้กลไกที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560
ข่าวที่เกี่ยวข้อง