ไม่พบผลการค้นหา
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกติดตั้งกลไกสืบทอดอำนาจครบครัน ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

ตั้งแต่วางระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พลิกสถานะพรรคพลังประชารัฐ จาก 'ผู้แพ้' ได้ ส.ส.เข้าสภาเป็นอันดับ 2 แต่ได้เป็นรัฐบาล

ส่วนผู้ชนะอย่างพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 ต้องเป็นผู้แพ้ ตกเป็นฝ่ายค้าน เพราะมิอาจรวบรวม ส.ส.ในสภาได้เท่ากับพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค ร่วมกันยกมือโหวตเคียงข้างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลากตั้ง 250 คนลุกขึ้นยืนเปล่งชื่อในรัฐสภาให้ พล.อ.ประยุทธ์ คัมแบ็กคุมอำนาจการบริหารประเทศอีกครั้ง

ทั้งที่อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดแม่น้ำสายร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2558 ส่ง “จดหมายน้อย” ที่อาจเรียกว่าเป็น “คำสั่ง” อย่างน้อย 2 ฉบับ ถึงห้องประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้เขียนสิ่งที่ คสช.ต้องการ รวบมือ - รวบอำนาจให้กับรัฐบาลหลังเลือกตั้งบริหารประเทศ

ทว่าเวลานี้อิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ติดตั้งไว้สกัดคู่แข่งการเมืองหลังเลือกตั้ง กำลัง “ย้อนศร” กลับมาเล่นงาน “พล.อ.ประยุทธ์” ในวันที่เขาคืนทำเนียบรัฐบาล

“พล.อ.ประยุทธ์” กำลังติดกับดักรัฐธรรมนูญ?

กับดักแรก ปัญหาหนักที่สุดคือปมการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะบังเอิญ - ไม่ตั้งใจ หรือมีเจตนามิอาจล่วงรู้ได้

แต่เหตุนี้กำลังนำพาปัญหาการเมืองหนักอกมาสู่ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ 

7 พันธมิตรฝ่ายค้าน ผนึกกำลัง ส.ส.214 คน นำโดยพรรคเพื่อไทย ยื่นขอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบ “ไม่ลงมติ” ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ “พล.อ.ประยุทธ์” มาตอบคำถามปมถวายสัตย์ที่ยังคาใจ

“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แม่ทัพเพื่อไทย กล่าวว่า “เราเปิดการอภิปรายทั่วไปไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายนายกฯ เพียงแต่คิดว่าเมื่อนายกฯ ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ก็เอาเข้าสภาฯ ให้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ นายกฯ คิดอย่างไร สภาฯ มีความเห็นอย่างไรก็ปรึกษากัน ให้ถูกต้องและจะได้แก้ในสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าพยายามพูดว่าเหมือนจะจองล้างจองผลาญไม่จบ ซึ่งไม่มีใครอยากจองล้างจองผลาญ แต่สิ่งที่ทำเป็นไฟที่ตัวนายกฯ จุดขึ้นมาเอง และก็เผาไหม้ตัวเอง"

"พรรคฝ่ายค้านก็เพียงแค่จะไปช่วยดับให้ จะได้มาช่วยทำงานให้กับประชาชน ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นอย่ากลัวสภาฯ นายกฯ ต้องไปทำความเข้าใจกับระบอบประชาธิปไตย และการทำงานในระบบรัฐสภาใหม่ นายกฯ จะกลัวการเข้าสภาฯ เหมือนเด็กกลัวเข้าบ้านผีสิงอย่างที่สื่อมวลชนเขียนไม่ได้”


ฝ่ายค้านยื่นญัตติ สุทิน เพื่อไทย ชวน สภา

เบื้องหลังการเขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ขึ้นมาก็เพราะ กรธ.ที่ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' เป็นประธาน เห็นว่า เหตุการณ์ก่อน คสช.ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พ.ค.2557 ฝ่ายค้านซึ่งเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภา ถูกเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลปิดปากไม่ให้พูด จึงต้องระบายออกด้วยการชุมนุมบนท้องถนน มาตรา 152 จึงเปิดโอกาสให้ “เสียงข้างน้อย” สามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ปีละ 1 ครั้ง แต่กลายเป็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะถูกประเดิมเป็นคนแรก 

อีกด้านหนึ่ง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญในปมถวายสัตย์ฯ อีกทางหนึ่ง ซึ่ง “พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมสอบถาม “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะผู้ถูกร้อง และจะเข้าสู่การประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน 27 ส.ค.นี้ ว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องของ “ศรีสุวรรณ” หรือไม่ 

แต่คำพูดของ “หมอกฎหมายประจำทำเนียบ” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี บอกใบ้แล้วว่า “ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ”


ประยุทธ์

กับดักที่ 2 จากปมถวายสัตย์ไม่ครบฯ สะเทือนถึง ครม.ทั้งคณะ ขยับมาที่ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยบายของรัฐบาล อันไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ซึ่งฝ่ายค้าน 7 พรรค หยิบเคสนี้ไปอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติด้วย

ทั้งนี้ มาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และ “ต้องชี้แจงแหล่งที่มา” ของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

ย้อนพิจารณาต้นขั้วของมาตรา 162 มาจากกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 มาตรา 35 (8) ที่กำหนดว่า กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งปมถวายสัตย์ไม่ครบบวกกับแถลงนโยบายไม่ชี้แจงรายได้ของเงิน ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นสองเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ กระทำขัดรัฐธรรมนูญ


ประยุทธ์ สภา แถลงนโยบาย รัฐสภา mplate.jpg

กับดักที่ 3 เป็นเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังคาราคาซังว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ สืบเนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เพราะเหตุการณ์ “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” ตอนที่ยังเป็นหัวหน้า คสช. โดยศาลนัดให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา

ไม่ว่าการขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ไล่บี้ปมถวายสัตย์ไม่ครบ – แถลงนโยบายไม่แจงที่มารายได้ ปมคุณสมบัติ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าข่ายการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

ทั้ง 3 ปม กลายเป็น “3 กับดัก” ฉุดให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตกหลุมระเบิดรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

ทั้งที่อาจกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองเป็นผู้ร่วมวางกับดักไว้เองจากการทำคลอดผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยมือของตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง